“แพ็กเกจจิ้ง” รีไซเคิลมาแรง “ยักษ์เครื่องดื่ม” ชูลดขยะพลาสติก

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์ผลิตจากพลาสติก ทั้งในรูปแบบขวดและแก้ว ล่าสุดบริษัทเครื่องดื่มหลายรายได้ปรับเปลี่ยนมาออกแบบบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายหรือรีไซเคิล ทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์

“ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า บริษัท เป๊ปซี่โค (PepsiCo) เจ้าของแบรนด์น้ำดื่ม “อควาฟีน่า” (Aquafina) ได้เปิดตัวน้ำดื่มที่บรรจุด้วยกระป๋องอะลูมิเนียม ซึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

แม้ว่าเป๊ปซี่โค ไม่ใช่บริษัทแรกที่หันมาใช้บรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียม โดยก่อนหน้านี้บริษัท “ออล มาร์เก็ต อิงก์”
ผู้ผลิตน้ำดื่มแบรนด์ “เอเวอร์แอนด์เอเวอร์” (Ever & Ever) เป็นผู้บุกเบิกการใช้กระป๋องอะลูมิเนียมกับน้ำดื่มมาก่อน แต่เป๊ปซี่โคกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบรนด์ “ไลฟ์ดับบลิวทีอาร์” (LIFEWTR) ซึ่งจะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ 100%

โดยระบุถึงแผนในการดำเนินการว่า จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ทั้งหมด รวมถึงนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเป็นขวดพลาสติกใหม่ 25% ภายในปี 2025 คาดว่าจะช่วยลดการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกใหม่ราว 8,000 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 11,000 ตันในปี 2020

ขณะที่บริษัทโคคา-โคลา ซึ่งสถิติในปี 2016 พบว่า ผลิตขวดพลาสติกมากถึง 110,000 ใบ เปิดเผยว่า จะนำขวดพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ราว 75% ในปี 2020 และยังได้ลงทุนกับบริษัท “ไอออนนิกา เทคโนโลยีส์” ของเนเธอร์แลนด์ เพื่อใช้เทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้แล้ว ให้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารใหม่ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้มีรายงานจาก “เจแปนไทมส์” ว่า “อาซาฮี เบฟเวอเรจ” บริษัทเบียร์ญี่ปุ่นเจ้าของแบรนด์ “อาซาฮี” ได้ร่วมมือกับบริษัทพานาโซนิค คอร์ป พัฒนา “เหยือกเบียร์” ที่ผลิตจากไฟเบอร์เรซิ่น ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้จากพืชและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ “อาซาฮี” ได้ตั้งเป้าจะลดการใช้แก้วพลาสติกในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานที่ โดยราคาขายของเหยือกนี้อยู่ที่ 250-300 เยนตามข้อมูลของ “ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” บริษัทวิจัยการตลาดของอังกฤษ ระบุว่า ในปี 2016 มีขวดพลาสติกถูกจำหน่ายไปทั้งสิ้น 480,000 ล้านใบ ซึ่งถูกนำมารีไซเคิลไม่ถึง 50% ของจำนวนดังกล่าว และมีเพียง 7% ที่นำกลับมาผลิตเพื่อใช้เป็นขวดใหม่

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนได้ว่า บริษัทเครื่องดื่มทั่วโลกจำนวนมากเริ่มหันมาสนใจปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน