สงครามการค้าจีน-อเมริกา …. “ฟ้าสว่างหรือทางมืด”

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีนได้ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จัดเสวนาหัวข้อ “สงครามการค้าจีน-อเมริกา ฟ้าสว่างหรือทางมืด หลังเวที G20” ในงานดังกล่าวได้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้และแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ “สงครามการค้า” เป็นจำนวนมาก

นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ชี้ว่า สงครามการค้าระหว่างสองประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกายังเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าด้วยการดำเนินนโยบาย “อเมริกันเฟิร์ส” (American first) อย่างเข้มข้น ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะถึงในปี 2020 ด้วย ซึ่งหากทรัมป์ชนะอีกครั้งก็จะแสดงให้เห็นว่าเสียงสนับสนุนนโยบายดังกล่าวยังมีสูงมาก

ขณะที่ปีนี้ก็กำลังจะครบ 70 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศที่จะเดินหน้าพัฒนาด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ “5G” ที่จีนมีความก้าวหน้าที่สุดในโลก รวมถึงการเดินหน้านโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) อย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนจะกลายผู้นำการค้าเสรีแทนที่สหรัฐ

จีนกลับมาทวงแชมป์เก่า

ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มองว่า การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกระแสต่อต้านภายในภาคธุรกิจของสหรัฐเองบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวที่อาจนำมาสู่การพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

ขณะที่จีนสร้างพันธมิตรทางการค้าผ่านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และยังสร้างความแข็งแกร่งผ่านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าทุกประเทศ อีกทั้งในอดีตจีนเคยเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกก่อนที่โลกตะวันตกจะเจริญก้าวหน้ากว่าเมื่อเพียง 200 ปีที่ผ่านมานี้ และตอนนี้ “จีนเพียงกลับมาทวงแชมป์เก่า” เท่านั้นเอง

ด้าน ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล นักวิจัยอาวุโสของ CIBA ระบุว่า “หัวเว่ย” เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของความพยายามพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการสร้างระบบจัดการข้อมูลของจีน ที่เริ่มจากการเป็นธุรกิจเอกชนขนาดเล็กและพัฒนาด้วยการเรียนรู้โลกภายนอก จนสามารถพัฒนาเป็นแบรนด์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และกลายบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและให้การสนับสนุน และก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้าที่พัฒนาเป็น “สงครามเทคโนโลยี” ในปัจจุบัน

แม้ว่า หลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28-29 มิ.ย. ที่ผ่านมา จีนและสหรัฐมีท่าทีจะผ่อนคลายความตึงเครียดต่อกัน โดยที่สหรัฐให้คำมั่นว่าจะยังไม่มีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสหรัฐจะผ่อนปรนมาตรการปิดกั้นหัวเว่ย ด้วยการเริ่มออกใบอนุญาตบางส่วนให้แก่บริษัทซับพลายเออร์ของสหรัฐสามารถส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับหัวเว่ยได้ ขณะที่จีนก็ให้สัญญาว่าจะกลับมานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ แต่ท่าทีระหว่างสองประเทศยังคงเป็นที่จับตามองของหลายประเทศเนื่องจากกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยตรง

พ.ค.ส่งออกไปจีนติดลบ-7.2%

ด้านนางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่กำลังชะลอตัว โดยในเดือน พ.ค. ส่งออกไทยลดลง 5.8% และการส่งออกไปยังจีนในเดือนเดียวกันก็ลดลง 7.2% แต่การส่งออกไปยังสหรัฐกลับเพิ่มขึ้น 7.8% สาเหตุสำคัญเกิดจากไทยเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ฐานการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในจีน ส่งออกไทยจึงได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐ แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐหันมานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นนอกจากจีนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกยางพาราของไทยจะผูกกับตลาดจีนมากเกินไป ซึ่งอัตราการส่งออกยางพาราไปจีนในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาติดลบถึง -24.5% ทำให้ราคายางพาราของไทยตกต่ำ แต่อัตราการส่งออกสินค้าเกษตรอื่น ๆ โดยเฉพาะผักผลไม้ของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสงครามการค้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของโลก ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะสหรัฐยังไม่ได้ใช้มาตรการทางภาษีต่อสินค้ายานยนต์

นางสาวกัณญภัคเน้นย้ำว่า หนทางที่ไทยจะสามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ รัฐบาลต้องเดินหน้าส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ผลิตหรือกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตร และการปรับปรุงสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะเดียวกันก็ควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนของค่าใช้จ่ายการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ด้วย

ขณะที่นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า รัฐบาลไทยเน้นการใช้เวทีพหุภาคีในการหารือและสร้างความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจการค้า โดยในการประชุม G20 ที่ผ่านมาไทยในฐานะประธานอาเซียนก็ได้เข้าร่วมมือประชุมหารือในกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน (RCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ไทยยังคงเน้นรักษาความเป็นกลางและรักษาสัมพันธภาพอันดีทั้งกับสหรัฐและจีน รวมถึงผู้เล่นอื่นในเวทีโลก โดยอาศัยความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัยเกื้อกูลซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก

นางสุจิต ชัยวิชญชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ชี้ว่าสงครามการค้าได้ซ้ำเติมภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จากเดิมที่ 3.5% เหลือเพียง 3.3% และเศรษฐกิจของสหรัฐจะเติบโตเพียง 2.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5% ต่างจากเศรษฐกิจของจีนที่ IMF คาดว่าจะเติบโตขึ้น 6.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 6.2%

ทั้งนี้สถานการณ์สงครามการค้าจะยิ่งรุนแรงขึ้นเป็นสองเท่า หากมีการใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้กันเป็นรอบที่ 4 โดยสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 25% ขณะที่จีนจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภค

“สงครามการค้ายังคงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไป และอาจจะลุกลามไปยังทั้งภาคอุตสาหกรรม การเงิน และเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ไทยยังคงมีความหวังจากการปรับเปลี่ยนในทุกภาคส่วน ทำให้ภาพสงครามการค้าของไทยไม่ใช่ฟ้าสว่างหรือทางมืด แต่เป็น ฟ้าสลัวในยามเช้า ที่มีโอกาสจะกลับมาสดใสอีกครั้งหากมีการรับมือเป็นอย่างดี” นางสุจิตทิ้งท้าย