ประโยชน์ของการลงทุนระหว่างประเทศ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

โดนัลด์ ทรัมป์ มิได้ประกาศจะลดปริมาณการค้ากับต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากับนานาประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับอเมริกา แต่จะลดการลงทุนระหว่างกันกับประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย

กล่าวคือ จะกีดกันมิให้ทุนของชาวอเมริกันไปลงทุนในต่างประเทศ และกีดกันนักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในอเมริกา แต่จะสนับสนุนให้บริษัทอเมริกันลงทุนในอเมริกาเท่านั้น และจะกีดกันบริษัทต่างชาติไม่ให้มาลงทุนในอเมริกา กล่าวหาทุนอเมริกันว่าแทนที่จะลงทุนในอเมริกา สร้างงานให้กับคนอเมริกัน แต่กลับไปลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน เท่ากับทุนอเมริกันไปลงทุนสร้างงานให้กับคนจีนแล้วกลับมาขายให้คนอเมริกันซื้อเพื่ออุปโภคบริโภค เพราะผู้ผลิตในอเมริกาไม่มีประสิทธิภาพพอจะผลิตของแข่งขันกับจีนได้ แม้กระทั่งในตลาดอเมริกาเอง

โดนัลด์ ทรัมป์ จึงตั้งกำแพงภาษีไว้สำหรับเงินทุนอเมริกันที่จะนำไปลงทุนในจีนและประเทศอื่น ๆ โดยที่ตนไม่เข้าใจตลาดการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นผลเสียแก่สหรัฐและคนอเมริกันเองในระยะยาว ความคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นความคิดที่ย้อนยุคกลับไปกว่า 250 ปีที่แล้ว ที่ ประธานาธิบดีมอนโรของสหรัฐ และ จักรพรรดิเฉียน หลง ของจีน รวมทั้งโชกุนของญี่ปุ่น ก็ไม่คิด

จะเปิดประเทศต้อนรับการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ แต่ในที่สุดก็สู้พลังทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าพังทลายกำแพงที่ใช้ปิดกั้นการค้าและการลงทุนไม่ได้ จนเกิด “ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร” หรือ General Agreement on Tariffs and Trade หรือ GATT เกิด “องค์การการค้าโลก” หรือ World Trade Organization หรือ WTO ซึ่งอเมริกาเป็นตัวตั้งตัวตีคอยสนับสนุนทั้ง GATT และ WTO พยายามบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกของ WTO ยกเว้นประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ แต่ในที่สุดทั้งจีน รัสเซีย และประเทศในยุโรปตะวันออกก็สามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกได้

ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพื้นยุโรปตะวันตกเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากอังกฤษตอนกลางในศตวรรษที่ 18 และขยายตัวแพร่หลายไปยังทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 19 การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปและอเมริกาเป็นเหตุให้ผู้ผลิตเห็นความสำคัญของ “ทุน”

ซึ่งแต่เดิมเคยให้ความสำคัญกับ “ที่ดิน” เป็นสิ่งสำคัญ ความคิดเปลี่ยนไปจากเดิมที่การถือว่า “ที่ดิน” ซึ่งรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติด้วยเป็นปัจจัยผลิตที่สำคัญ กลายมาเป็น “ทุน” ซึ่งรวมทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

นักลงทุนจะสังเกตเห็นว่า เมื่อมีการลงทุนแรก ๆ ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนจะสูง เพราะสามารถขายได้ราคาดี ต้นทุนจะถูก แต่เมื่อลงทุนผลิตมาก ๆ เข้า วัตถุดิบจะมีราคาแพงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าสำเร็จรูปที่ตนผลิตก็จะมีราคาที่ต่ำลงเพราะมีของเข้ามาขายในตลาดมากขึ้น ตามหลักเกณฑ์ธรรมชาติของตลาดผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนก็จะลดลง

ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ประสิทธิภาพหน่วยสุดท้ายของทุน หรือ marginal efficiency of capital จะลดลง เมื่อผลตอบแทนลดลงจนเท่ากับดอกเบี้ยการลงทุนก็จะหยุด เงินทุนก็จะหาทางไปลงทุนที่อื่นที่ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนยังสูงอยู่ เพราะยังมีการลงทุนน้อย ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเกิดการเคลื่อนย้ายทุนจากที่ที่ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนต่ำ เพราะมีการลงทุนมาก่อนแล้ว เศรษฐกิจเจริญขึ้นแล้วมาสู่ที่ที่ผลตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนที่ยังสูงอยู่ การลงทุนข้ามชาติจึงเกิดขึ้น

เมื่อเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศที่มีการสะสมทุนมากมายังประเทศที่ยังมีการสะสมทุนน้อย แล้วนำสินค้ามาค้าขายกัน การเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศผสมกับการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเหตุให้ประเทศที่นำทุนมาลงทุนในประเทศที่รับการลงทุนได้ประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

กล่าวคือ ประเทศที่มีทุนมากก็จะได้ผลตอบแทนต่อหน่วยลงทุนสูงขึ้น ประเทศที่เป็นผู้รับการลงทุนจากต่างประเทศก็จะสามารถผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาของปัจจัยการผลิต อันได้แก่ ดอกเบี้ย และค่าจ้างแรงงาน ก็มีแนวโน้มที่จะมีความแตกต่างกันลดลงด้วย ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ใช้แรงงานและเจ้าของทุนก็จะมีฐานะแตกต่างกันน้อยลง

เนื่องจากทุนมีน้อยและจำกัด อยู่ในมือคนจำนวนน้อย ผลตอบแทนของเงินทุนจึงสูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนต่อผู้ใช้แรงงาน เพราะแรงงานมักจะมีมากจนเกินความต้องการของตลาด อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานกับผู้เป็น

เจ้าของทุนจึงมีน้อยกว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับเจ้าของทุนจึงเกิดขึ้น นอกเหนือจากรัฐบาลที่จะต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อให้การต่อรองเป็นไปอย่างยุติธรรม การเกิดขึ้นของ “ค่าแรงขั้นต่ำ” และกรรมการไตรภาคีในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจึงเกิดขึ้น

การลงทุนระหว่างประเทศจึงมีส่วนสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน การค้าระหว่างประเทศก็เป็นแรงผลักดันให้มีการลงทุนระหว่างประเทศ

เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ ความแตกต่างของผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิต อันได้แก่ แรงงาน และเงินทุน จึงทำให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต อันได้แก่ การเคลื่อนย้ายของเงินทุน และแรงงานการเคลื่อนย้ายของทุนมักจะไม่มีปัญหา ประเทศที่ขาดแคลนเงินทุนก็ต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประเทศที่มีเงินทุนเหลือเฟือก็ต้องการนำเงินมาลงทุนในประเทศที่ขาดแคลนเงินทุน ซึ่งค่าตอบแทนต่อหน่วยการลงทุนมักจะสูงกว่า

แต่ในกรณีแรงงาน แม้จะมีแรงผลักดันให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไปสู่ประเทศที่ผลตอบแทนต่อการจ้างงานสูงกว่า แต่กรณีนี้ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทุกประเทศจึงกีดกันการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไปสู่ประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า มีค่าจ้างแรงงานสูงกว่า มีรายได้โดยทั่วไปสูงกว่า หากปล่อยให้มีแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา

มาก ค่าจ้างแรงงานก็จะลดลง หรือถ้าค่าจ้างแรงงานของแรงงานท้องถิ่นไม่ลดลง “การว่างงาน” ในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานสูงก็จะเกิดขึ้น เพื่อรักษาระดับค่าจ้างแรงงานและรายได้ของคนส่วนใหญ่ในประเทศให้สูงขึ้น ทุกประเทศจึงกีดกันการโยกย้ายแรงงานจากประเทศที่มีแรงงานเหลือเฟือเข้ามาสู่ตลาดแรงงานของตน

ประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแล้ว จะมีระบบสวัสดิการสังคม หรือ social welfare ที่ดีกว่าระบบสวัสดิการสังคมของผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า หมายความว่า ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าต้องรับภาระภาษีในอัตราที่สูงกว่า ช

แต่ด้วยเหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อย เรื่องความเป็นธรรมในสังคม “ผู้ที่เอาจากสังคมมากกว่าก็ควรเป็นผู้ที่ให้กับสังคมมากกว่า” ผู้ที่ได้จากสังคมมากกว่าทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข อาหารการกิน การมีโอกาสในระบบเศรษฐกิจเสรีมากกว่า เนื่องจากตนได้เปรียบในเรื่องอื่น ๆ จึงเป็นเหตุให้ตนได้จากสังคมมากกว่าผู้อื่น ผู้ที่ได้จากสังคมมากกว่าผู้อื่นก็ควรต้องรับภาระต่อสังคมมากกว่าผู้อื่นด้วย สังคมจึงจะอยู่ได้ด้วยความสงบสุข

เมื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกันไม่มาก อันเป็นเหตุผลของภาษีที่ควรจะก้าวหน้า progressive แทนที่จะถดถอย regressive ประเทศที่ก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เมื่อค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับสูง ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในเรื่องสวัสดิการสำหรับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับหนึ่งมีสูง อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากก็อยู่ไม่ได้

จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงาน ใช้เครื่องยนต์กลไกออโตเมติก ใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนมากขึ้นจึงจะอยู่ได้ มิฉะนั้น ก็จะต้องโยกย้ายทุนและโรงงานไปอยู่ในต่างประเทศ

รายได้ของประเทศจากการส่งออกสินค้าและแรงงาน เมื่อเทียบกับรายได้จากเงินปันผล ดอกเบี้ย รายได้จากทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ค่าลิขสิทธิ์ นิมิตสิทธิ์ ค่าเช่าและลาภลอย หรือ capital gain จากการเปลี่ยนแปลงของราคาทรัพย์สินทางการเงิน หรือทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งต้องพึ่งตลาดทุนในสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าของโลก

จากทุนที่เคยอยู่ในยุโรปแต่ได้เคลื่อนย้ายมาอยู่ที่อเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเป็นศูนย์กลางตลาดเงิน อันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ และเป็นศูนย์กลางของตลาดทุน การระดมทุนขนาดใหญ่ในโลกต้องผ่านบริษัทตัวแทนของสหรัฐรับประกันการขายทรัพย์สินทางการเงิน

กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างรายได้ให้กับคนอเมริกันจำนวนมหาศาลให้กับผู้ออมในสหรัฐ แม้ว่าจะมีความผันผวนขึ้นลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ก็มีความแน่นอนขั้นหนึ่งที่ผู้ที่เกษียณอายุจะได้รับหลักประกันระดับหนึ่งที่สูงกว่าประเทศอื่น

การประกาศให้สหรัฐถอยหลังเข้าคลองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากจะเป็นไปไม่ได้ในระดับสูง หรือจะเป็นไปได้ก็ในระดับต่ำมากแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศในทางลบให้กับการเคลื่อนย้ายทุนจากที่ที่มีผลตอบแทนต่ำ เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่น ไปยังแหล่งที่ขาดแคลนเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งผลตอบแทนต่อหน่วยลงทุนสูงกว่า เป็นการลดผลประโยชน์ของผู้ออมซึ่งจำนวนมากเป็นครัวเรือนชาวอเมริกัน เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง อัตราการออมก็ต้องสูงกว่าประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่ำ ทุกฝ่ายทั้งผู้ออมในสหรัฐและผู้ใช้เงินออมในประเทศกำลังพัฒนา เสียผลประโยชน์หมดทุกฝ่าย


ความโง่เขลาของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นโทษกับเศรษฐกิจโลก