จีนเลือก “วิถีเดิม” กระตุ้นศก. สร้างหนี้-บูมอสังหาฯ-ลงทุนอินฟราฯ

(File Photo by WANG ZHAO / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

 

หนี้สาธารณะของจีนตกเป็นเป้าโจมตีและวิจารณ์อยู่พักใหญ่จากนักวิเคราะห์และสื่อจากซีกตะวันตก เพราะสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงมากจนอาจก่อวิกฤตระดับโลกได้ทุกเมื่อ กระทั่งทำให้จีนดำเนินความพยายามที่จะคลายความวิตกกังวลของหลาย ๆ ฝ่ายด้วยการควบคุมการปล่อยกู้มากขึ้น เคร่งครัดภาคอสังหาฯ เพิ่มสัดส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ กระทั่งทำให้ปีที่แล้วหนี้สาธารณะของจีนลดลงเป็นครั้งแรก

แต่หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดสงครามการค้ากับจีนด้วยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้า ข่าวหนี้สาธารณะของจีนถูกกลบด้วยข่าวสงครามการค้า เพราะเป็นประเด็นน่าห่วงยิ่งกว่าหนี้สาธารณะเสียอีก เนื่องจากจะสร้างผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมไม่แพ้กัน ซึ่งก็ปรากฏให้เห็นแล้วว่ามีผลให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง พร้อมกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว

พิษสงครามการค้าทำให้จีนต้องรับมือด้วยการกลับมาใช้นโยบายผ่อนคลายเพื่อโอบอุ้มเศรษฐกิจ ผลก็คือไตรมาสแรกปีนี้หนี้สาธารณะของจีนกลับมาแตะจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 248.83 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 5.1% แต่ก็ช่วยให้จีนสามารถพยุงอัตราเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 6.4%

เมื่อพิษสงครามการค้ารุนแรงขึ้น เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ปีนี้ชะลอลงมากกว่าเดิม เหลือเพียง 6.2% ต่ำสุดในรอบ 27 ปี ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จีนอาจต้องกลับไปใช้วิธีการเดิมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือสร้างหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งตามมุมมองของ ตัน หวัง นักเศรษฐศาสตร์ของอินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ระบุว่า เศรษฐกิจที่จะชะลอลงมากกว่าเดิมทำให้จีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มขึ้นภายใน 6 เดือนนับจากนี้ โดยคาดว่าจะออกมาในรูปของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เพิ่มขึ้น ผ่อนคลายการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่อนคลายการปล่อยกู้ ผลลัพธ์คือหนี้สาธารณะจะสูงขึ้น เพิ่มความกังวลต่อระดับหนี้สาธารณะมากขึ้นไปอีก

“ช่วง 6 เดือนต่อจากนี้นโยบายการเงินจะมีบทบาทจำกัด และนโยบายการคลังจะกลับมาเล่นบทบาทนำ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ การลงทุนจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากการบริโภคอ่อนแอมากในปีนี้” ตัน หวัง ระบุ

ตามรายงานของธนาคารไอซีบีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่สุดของจีนและใหญ่สุดในโลก ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานจะมีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนเศรษฐกิจ เพราะโครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานในภูมิภาคที่มีการพัฒนาน้อย ซึ่งการสร้างโครงการดังกล่าวย่อมหมายถึงการออกพันธบัตรมากขึ้นและพึ่งพาการก่อหนี้เพื่อสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจ

นอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว คาดว่าจีนจะกลับไปพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นเดิม ซึ่งตามการประเมินของ “ลาร์รี หู” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแมคควอรีในจีน เชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากรัฐบาลจะหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตเป็นอันดับแรก เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะมีการลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน

“ถึงแม้ราคาอสังหาริมทรัพย์จะไต่ขึ้นไปสูงอย่างไร และเร็ว ๆ นี้รัฐบาลพยายามจะเข้มงวดไม่ให้นักพัฒนากู้ยืมเงินต่างประเทศ แต่สภาวะตอนนี้ภาครัฐคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเพิ่มการสนับสนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์”

ก่อนหน้าจะเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐ จีนประกาศปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เป้าหมายคือสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตแบบยั่งยืน ไม่เน้นตัวเลขจีดีพี ลดพึ่งพาการส่งออก หันมาเน้นการบริโภคภายใน ขณะเดียวกันก็ลงมือปราบหนี้อย่างรวดเร็ว จนถูกตลาดและนักลงทุนวิจารณ์ว่า เป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและตลาดหุ้นซบเซา ดังที่เห็นในปีที่แล้วซึ่งดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตลดลงมากถึง 20% จากจุดสูงสุดของปี

แต่ตอนนี้จีนถูกบังคับให้กลับมาใช้หนทางเดิมเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากพิษสงครามการค้า ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์