สถานการณ์ “เน็ตฟลิกซ์” เมื่อตลาด “มีเดียสตรีมมิ่ง” ร้อนฉ่า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก 

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

“เน็ตฟลิกซ์” ยักษ์ใหญ่ในการให้บริการมีเดียสตรีมมิ่งระดับโลก รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ของปีเอาไว้ว่า ในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทมีผู้บอกรับเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นทั่วโลก 2.7 ล้านคน

แค่ครึ่งวันที่ผลประกอบการดังกล่าวประกาศออกมา ราคาหุ้นของเน็ตฟลิกซ์ร่วงไปมากกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะตลาดวอลล์สตรีตคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่บอกรับเป็นสมาชิกใหม่ของเน็ตฟลิกซ์ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.1 ล้านคน เน็ตฟลิกซ์เองประเมินตัวเลขเอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคน การขยายตัวของสมาชิกแค่ 2.7 ล้านคนจึงต่ำกว่าเป้าที่คาดคะเนกันเอาไว้มหาศาล

ที่สำคัญมากขึ้นไปอีกก็คือ เน็ตฟลิกซ์ยอมรับด้วยว่าในช่วงดังกล่าวบริษัท “สูญเสีย” สมาชิกบอกรับบริการของตนในสหรัฐอเมริกา “เป็นครั้งแรก” นับตั้งแต่ปี 2011 หลังจากการปรับขึ้นค่าบริการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ทำให้ผู้ใช้บริการต้องควักเงินจากกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์

“นิโคลัส ไฮเอทท์” นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ ชี้ว่า หุ้นของเน็ตฟลิกซ์เสียหายจากยอดสมาชิกที่พลาดเป้ามากกว่าอย่างอื่น เพราะยอดสมาชิกผู้ใช้บริการเป็นเรื่องสำคัญ การไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่คาดหวังเอาไว้ ในขณะที่การแข่งขันเพื่อช่วงชิงผู้ชมในตลาดกำลังร้อนแรง สร้างความกังวลให้เกิดขึ้นมากเป็นเท่าตัว ความเจ็บปวดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแค่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ ยังถือเป็น “ตลาดท้องถิ่น” ในบ้านเกิดของตัวเอง จำนวนผู้บอกรับสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ ในสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 60 ล้านคน การสูญเสียสมาชิกรับชมในส่วนนี้ไปถึง 130,000 รายในไตรมาส 2 จึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดา

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์เพิ่งเพิ่มอัตราการบอกรับเป็นสมาชิกขึ้นสำหรับสมาชิกในสหรัฐอเมริกาทั่วประเทศ การบอกรับเป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ระดับมาตรฐานในเวลานี้ต้องจ่ายเงินอยู่ที่ 13 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าบอกรับเป็นสมาชิกในระดับเดียวกันของฮูลู คู่แข่งสำคัญถึง 1 ดอลลาร์เต็ม ๆ

เน็ตฟลิกซ์อ้างว่า การที่ไม่สามารถทำยอดการบอกรับเป็นสมาชิกได้ตามเป้าหมายเยอะมาก สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องเนื้อหาที่นำเสนอเป็นสำคัญ และแสดงความเชื่อมั่นว่ายอดการบอกรับเป็นสมาชิกจะกลับมาขยายตัวในระดับปกติอีกครั้ง หลังจากภาพยนตร์ซีรีส์ที่ผลิตเองซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก อย่าง “สเตรนเจอร์ ธิงส์” และ “ออเรนจ์ อิส เดอะ นิว แบล็ก” ซีซั่นใหม่กลับมาเผยแพร่อีกครั้ง คาดว่าจะทำยอดสมาชิกเพิ่มขึ้น 800,000 รายในช่วงดังกล่าว

ในช่วงเวลาเดียวกัน เน็ตฟลิกซ์ยังคงทุ่มเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับใช้ในการผลิตภาพยนตร์และโชว์ต่าง ๆ ขึ้นมาเอง นักวิเคราะห์คาดกันว่า เม็ดเงินเพื่อการลงทุนด้านเนื้อหานี้จะสูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เน็ตฟลิกซ์อ้างว่า การลงทุนจำนวนมากดังกล่าวสอดรับกับปริมาณการเติบโตของผู้บอกรับสมาชิกทั่วโลก ซึ่งนับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ยอดผู้บอกรับสมาชิกของเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลกมีมากถึง 152 ล้านคน

นักวิเคราะห์ทั้งหลายตั้งข้อสังเกตกันเอาไว้มากก็คือ ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังทั้งไตรมาสของเน็ตฟลิกซ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันรุมเร้ามากขึ้นในตลาดสตรีมมิ่งที่ตนเองเป็นผู้บุกเบิก เพราะทั้งดิสนีย์, แอปเปิล, เอทีแอนด์ที เรื่อยไปจนถึงเอ็นบีซียูนิเวอร์ซัลของคอมคาสต์ กำลังเตรียมการเปิดบริการของตนเองออกมาให้เลือกสรรกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการคือในขณะที่การแข่งขันเริ่มร้อนแรงเจ้าของเนื้อหาที่เป็นที่นิยมของผู้ชม ซึ่งเคยร่วมมืออยู่กับเน็ตฟลิกซ์หลายรายก็เริ่มถอนตัวออกไป ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนที่แล้วเอ็นบีซียูนิเวอร์ซัลก็ประกาศยกเลิกการให้สิทธิเน็ตฟลิกซ์ออกอากาศ “ดิ ออฟฟิศ” ที่เป็นของตนนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ในขณะที่วอร์เนอร์มีเดียก็ถอน “เฟรนด์ส” ซีรีส์โด่งดังออกจากเน็ตฟลิกซ์ตั้งแต่ปีหน้านี้อีกด้วย

เน็ตฟลิกซ์ยอมรับว่า เงินลงทุนด้านเนื้อหาส่วนใหญ่นำมาจากการกู้ ยอดหนี้สินระยะยาวของบริษัทในไตรมาส 2 รวมแล้วอยู่ที่ 12,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ที่ 10,300 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ระบุว่า สภาพคล่องที่เป็นเงินสดของบริษัทจะลดลงราว 3,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะในปีนี้ แต่เชื่อว่าหลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น

ข้อสังเกตที่น่าคิดมากที่สุดต่อผลประกอบการของเน็ตฟลิกซ์รายไตรมาสครั้งนี้ เป็นของ “แพทรีซ คูชิเนลโล” ผู้อำนวยการวิเคราะห์หลักทรัพย์ของฟิตช์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ผลประกอบการล่าสุดครั้งนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงสภาพ “อิ่มตัว” ของตลาดในสหรัฐอเมริกา

ตลาดอิ่มตัวในขณะที่การแข่งขันครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ส่อให้เห็นเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากว่า สงครามแย่งชิงผู้ชมของสตรีมมิ่ง มีเดียในสหรัฐอเมริกา ที่จะทวีความดุเดือดขึ้นเป็นทวีคูณในอีกไม่ช้า