อังกฤษในมือ “บอริส จอห์นสัน” ชะตากรรม “เบร็กซิต” แบบ Nodeal

File Photo REUTERS/Hannah McKay

อนาคตอังกฤษจะเป็นอย่างไร ภายใต้การนำของ”บอริส จอห์นสัน” ท่ามกลางความบอบช้ำของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้ตามกำหนดในวันที่ 31 ต.ค.ที่จะถึงนี้

บีบีซี รายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาดูแผนการเบร็กซิตของผู้นำคนใหม่ วัย 55 ปี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยบางส่วนคาดว่านายบอริส จอห์นสัน จะสานต่อภารกิจสำคัญของนางเทเรซา เมย์ โดยปรับข้อเสนอบางอย่างเพื่อให้บรรลุข้อตกลงกับอียูได้ง่ายขึ้น

แต่เสียงตอบรับส่วนใหญ่โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศในสหราชอาณาจักร (ยูเค) กังวลว่าสถานการณ์เบร็กซิตจะเลวร้ายลง เพราะนายกรัฐมนตรีจอห์นสันเป็นหนึ่งในหัวหอกต้นคิดที่จะนำอังกฤษออกจากอียูู

นายจอห์นสันได้ย้ำถึงคำสัญญาว่าจะถอนตัวจากอียูในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ไม่ว่าจะ “เป็นหรือตาย” ทำให้มีการประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเบร็กซิตแบบ “ไร้ข้อตกลง” (nodeal)

ขณะที่บีบีซีประเมินว่า แผนการเบร็กซิตในรัฐบาลของนายจอห์นสัน คาดว่าจะเดิมพันชะตากรรมของยูเคด้วย 3 ทาง หลังจากที่เขาได้พูดต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ย้ำว่า “จะพยายามบรรลุข้อตกลงร่วมกับอียูอย่างประนีประนอม แต่หากไม่สามารถไปถึงฝันเราจำเป็นต้องยุติการเจรจา และทำตามคำสัญญาที่ชาวอังกฤษเรียกร้อง”

ทางเลือกที่ 1 บีบีซีระบุว่า นายจอห์นสันอาจเสนอข้อตกลงฉบับใหม่กับอียูและผลักดันจนสำเร็จ แทนข้อตกลงเดิมที่อดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ทำไว้เมื่อปี 2018 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอังกฤษจากสถาบันการศึกษาการคลังในลอนดอน มองว่า ทางเลือกนี้จะเกิดขึ้นได้ยากที่สุดเพราะใช้เวลานาน นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.เป็นต้นไป เป็นช่วงพักฤดูร้อนของรัฐสภาอังกฤษ และจะกลับมาทำงานปกติในช่วงต้นเดือน ก.ย. ทำให้เหลือเวลาในการเจรจาก่อน 31 ต.ค.น้อยมาก

ทางเลือกที่ 2 จอห์นสันอาจจะให้สภาอังกฤษให้สัตยาบันเฉพาะเรื่องที่ไม่มีข้อขัดแย้งกับอียู เช่น สิทธิพลเมืองของอียูในอังกฤษราว 2.3 ล้านคน และความร่วมมือด้านการทูตและความมั่นคง “จอห์นสัน” จะเจรจากับรัฐสภาสำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้กับอียูราว 39,000 ล้านปอนด์ในการแยกตัว โดยอาจใช้เป็นเครื่องต่อรองให้อียูลงนามข้อตกลงที่ยังเป็นประเด็นอยู่ เช่นกรณี “แบ็กสต็อป” (backstop) ที่พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ของอียู

วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีได้หากสภาอังกฤษอนุมัติให้ใช้วิธี “ไม่เข้มงวด” โดยที่ผ่านมา “ยูเคและอียู” ยอมผ่อนปรนในเงื่อนไขเพื่อเปิดพรมแดนไอร์แลนด์ตามเดิมชั่วคราว แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในอังกฤษมองว่าจะถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์การค้าของอียูในอนาคตหากมีการกั้นพรมแดน และมีด่านตรวจตราสินค้าจริง ซึ่งเรียกว่า “พรมแดนแบบเข้มงวด” (hard border) จะกระทบต่อทั้งสองฝ่าย เช่น การค้า ท่องเที่ยว และความมั่นคง ซึ่งภาคธุรกิจในยุโรปกังวลว่า สินค้าที่นำเข้า-ส่งออกผ่านพรมแดนนี้จะล่าช้าขึ้น ทำให้เกิดต้นทุนอื่น ๆ ตามมา

นายจอห์นสัน เคยกล่าวว่า ชายแดนไอริชจัดการได้ด้วยวิธีอื่น เช่น ข้อตกลงพิเศษที่สนับสนุนการค้า การท่องเที่ยวระหว่างกัน พรมแดนไอร์แลนด์ “ไม่ควรเป็นหนึ่งของข้อตกลงในการเบร็กซิต”

และทางเลือกสุดท้าย หลายฝ่ายมองว่าเป็นไปได้มากที่สุด คือ “เบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลง” จากการส่งสัญญาณอยู่หลายครั้งก่อนหน้านี้ โดยยอมรับว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับอังกฤษมากกว่าอียูหากไร้ข้อตกลง แต่การที่สถานการณ์ภายในที่ยืดเยื้อนานหลายปี ก็กัดกินและกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม จอห์นสันเชื่อว่าสหราชอาณาจักรจะยังทำการค้าปลอดภาษีกับอียูได้ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลง โดยยึดตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่เรียกว่า หลักการ GATT : ความตกลงทั่วไปเรื่องภาษีศุลกากรและการค้า ที่หนุนการค้าเสรีชั่วคราวโดยประเทศคู่ค้าที่ตกลงร่วม และย้ำว่า มีหลายประเทศทั่วโลกที่ยังเชื่อมั่นในอำนาจทางเศรษฐกิจของอังกฤษในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินโลกที่สำคัญ

“เบร็กซิตทำให้เรามีโอกาสทำการค้าการลงทุนกับประเทศอื่นได้อย่างเสรีมากขึ้นในกฎเกณฑ์ของเราเอง และจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอังกฤษหลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายได้” นายกฯคนใหม่ของอังกฤษกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ (NIESR) ระบุว่า ในกรณีเบร็กซิตแบบโนดีลจะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในภาพรวมหดตัวราว 2% ในปี 2020 นอกจากนี้ หนี้สาธารณะก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 6 หมื่นล้านปอนด์ด้วย แต่ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2021 หรือปี 2022 เศรษฐกิจของยูเคจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย

ชะตากรรมของเบร็กซิตจะเป็นอย่างไรต้องรอลุ้นหลังจากสภาอังกฤษเริ่มทำงานในวันที่ 3 ก.ย.นี้ แต่แนวโน้ม
“โนดีล” ค่อนข้างสูงเพราะผู้นำเหลือเวลาในการเจรจาอีกครั้งก่อนเส้นตายเพียง 2 เดือนเท่านั้น