“โบอิ้ง” งัดแผนแก้ขาดทุน ตัดใจเลิกผลิต “737 แม็กซ์”

ความเสียหายจากอุบัติเหตุเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 แม็กซ์ ตก 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกันเพียง 5 เดือน บริษัท “โบอิ้ง” ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความไม่เชื่อมั่นของนานาชาติที่ประกาศห้ามนำเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ขึ้นบินอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงสายการบินบางรายที่ยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นดังกล่าวอีกด้วย

“รอยเตอร์ส” รายงานว่า “เดนนิส มุยเลนเบิร์ก” ประธานกรรมการบริหารโบอิ้ง เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทขาดทุนสุทธิราว 2,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของบริษัทกลับคืนมา รวมถึงชดเชยแก่ผู้เสียหายจากโศกนาฏกรรมทั้ง 2 ครั้ง

แม้ว่า มุยเลนเบิร์กยังคงมั่นใจว่าเครื่องบินรุ่นนี้จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินได้อีกครั้งในช่วงต้นเดือน ต.ค. แต่บริษัทยอมรับว่า กำลังพิจารณายุติกระบวนการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ชั่วคราวหรือถาวร หากยังคงถูกแบนอย่างไม่มีกำหนด

“โบอิ้ง” พยายามอย่างหนักที่จะเรียกความเชื่อมั่นผู้บริโภคและหน่วยงานที่กำกับดูแลกลับคืนมา โดยเฉพาะการปรับปรุงซอฟต์แวร์ของเครื่อง 737 แม็กซ์ ใหม่ เนื่องจากถูกวิเคราะห์ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของเหตุการณ์เครื่องบินตกทั้ง 2 ครั้ง มุยเลนเบิร์กระบุว่า โบอิ้งได้จัดประชุมทางเทคนิคทุกสัปดาห์ร่วมกับสายการบินทั่วโลก และยังทำการประชุมเกี่ยวกับซอฟต์แวร์จำลองการบินถึง 225 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม โบอิ้งอาจต้องเผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ เนื่องจากจะต้องเสียค่าปรับจากการส่งมอบเครื่องบินล่าช้าและสูญเสียรายได้จากการผลิตที่ลดลง ซึ่งอาจเสียหายมากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม และขณะนี้โบอิ้งยังไม่สามารถส่งมอบเครื่องบินให้กับผู้สั่งซื้อได้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก โบอิ้งได้ลดกำลังการผลิตเครื่องบินขนาดใหญ่ลงไปจาก 52 ลำต่อเดือนเหลือเพียง 42 ลำ และผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงก็ทำให้ยอดขายลดลงถึง 35%

นอกจากนี้ โบอิ้งยังประสบปัญหาไม่สามารถส่งมอบเครื่องบิน 777 เอ็กซ์ รุ่นใหม่ของบริษัทได้ตามกำหนดเดิมปลายปีนี้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เจ็ตของบริษัทเจเนอรัล

อิเล็กทริกซ์ ซึ่งมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่อการนำเครื่องขึ้นบิน ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการนำขึ้นบินครั้งแรกไปถึงปี 2020 อย่างไรก็ตาม โบอิ้งตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายเครื่อง 777 เอ็กซ์ ให้มากขึ้น โดยมองว่าตลาดเครื่องบินยังคึกคักและมี “สัญญาณอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง”

ทั้งนี้ โบอิ้งหันไปเน้นการผลิต “นิว มิดไซด์ แอร์เพลน” (New Midsize Airplane) หรือ NMA ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เจ็ตคู่ความกว้างขนาดปานกลาง ซึ่งไม่เพียงแค่ต้องการแข่งขันกับ “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินคู่แข่งสำคัญจากฝรั่งเศส แต่โบอิ้งต้องการพัฒนาเครื่องรุ่นนี้เพื่อทดแทนเครื่องรุ่น 737 ด้วย

อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องบินตระกูลแม็กซ์ยังคงเป็นรุ่นที่โบอิ้งให้ความสำคัญ “สูงสุด”

ด้าน “เกร็ก สมิธ” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโบอิ้ง ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้โบอิ้งกำลังหาทางลดต้นทุนในทุกกระบวนการผลิต เพื่อเตรียมพร้อมที่เสียค่าปรับในการส่งเครื่องบินล่าช้า การปรับตัวครั้งนี้ยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าโบอิ้งจะสามารถพลิกฟื้นความเชื่อมั่นอีกครั้งได้หรือไม่