คำเตือนอีกครั้ง จาก “ไอเอ็มเอฟ”

REUTERS/Rodrigo Garrido
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจ ที่ปรับปรุงข้อมูลใหม่ในทุกไตรมาส เมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด แล้วก็เป็นอีกครั้งที่รายงาน ซึ่งจัดทำโดยคณะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ นำโดย นางคีตา โฆปินาถ ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและของประเทศเกือบทั้งหมดทั่วโลกลงต่อเนื่อง จากการประเมินไว้ในไตรมาสก่อนหน้านี้

เศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการลง 0.1% ในปีนี้และปีหน้า อัตราการขยายตัวในทรรศนะของไอเอ็มเอฟ ลงมาอยู่ที่ 3.2% ในปีนี้ และ 3.5% ในปีหน้า

“เยอรมนีกับญี่ปุ่น” ถูกปรับลดประมาณการการขยายตัวลงเล็กน้อยขณะที่มีการปรับลดลงมากใน บราซิล, เม็กซิโก, อินเดีย และแอฟริกาใต้ ทั้งหมดคือประเทศที่เคยเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกให้รุดหน้ามาต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2008 เป็นต้นมา

อินเดียถูกปรับลดลงปีละ 0.3% เหลือ 7.0 และ 7.2 ในปีนี้และปีหน้า

เขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก 2 ประเทศ อย่างจีนและสหรัฐ สถานการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในสายตาของไอเอ็มเอฟในปีนี้ สวนทางกันโดยสิ้นเชิง

ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ถูกปรับลดลง 0.1% ทั้ง 2 ปี มาอยู่ที่ 6.2 และ 6.0 ตามลำดับ ในทางตรงกันข้าม ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะขยายตัวแข็งแกร่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มประมาณการขึ้น 0.3% เป็น 2.6% จากคาดการณ์ครั้งก่อนเป็นการอัพเกรดเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

แต่ไอเอ็มเอฟมองไว้ว่า การขยายตัวที่ว่านั้นจะเป็นเพียงระยะสั้น และกำลังหมดแรงเหวี่ยงลงไปแล้ว ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงต่อเนื่องตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียงแค่ 1.9% เท่านั้น

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหล่านี้มองดูว่าแย่แล้ว คำเตือนที่ทีมนักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟจัดทำประกอบตัวเลขเอาไว้ ยิ่งให้ความรู้สึกไม่ดีมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ที่ “คีตา” บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงเปิดตัวรายงานที่กรุงซานติอาโกของชิลีว่า ตัวเลขคาดการณ์สะท้อนความจริงที่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ เป็นไป “อย่างเนือย ๆ” และเต็มไปด้วยความเสี่ยง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะถูกถ่วงจาก “สงครามการค้า” ที่ยังตึงเครียด ในเวลาเดียวกับที่โอกาสที่จะเกิด “โนดีลเบร็กซิต” ก็เพิ่มสูงขึ้นมากจากการได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ของ บอริส จอห์นสัน

หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำไอเอ็มเอฟขยายความเอาไว้ว่า เพราะ 70% ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติกำลังพัฒนา และตลาดเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลายที่มีความไม่แน่นอนสูง

หมายความว่า ตัวเลขที่ว่านี้เสี่ยงต่อการจะลดน้อยถอยลงไปจากที่เห็นนี้อีกถ้าหากเกิดอะไรขึ้น

ในความคิดเห็นที่จัดทำประกอบรายงานเอาไว้ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟบอกเอาไว้ว่า มี “ชนวนเหตุ” ที่ว่านี้อยู่มากมาย ซึ่งสามารถทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้กลายเป็นสถานการณ์ทางลบได้อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การที่สหรัฐอเมริกาขยับขึ้นภาษีนำเข้าระลอกใหม่อีกครั้ง ทั้งต่อสินค้าจากจีนและต่อสินค้าที่นำเข้าจากยุโรป เรื่อยไปจนถึง “โนดีลเบร็กซิต” และภาวะหนี้สูงในหลาย ๆ ประเทศ

คำย้ำเตือนของไอเอ็มเอฟก็คือ รัฐบาลของประเทศใด ๆ ก็ตามควรหลีกเลี่ยง “การก้าวพลาดทางนโยบาย” ที่อาจทำให้เกิดผลกระทบในทางที่ทำให้ความรู้สึกทางลบ, การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน เลวร้ายย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ไอเอ็มเอฟเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ถ้าทุกประเทศพร้อมใจกัน “ไม่ทำร้ายตัวเอง” เหมือนที่ผ่านมา !