“โปแลนด์” เว้นภาษีคนรุ่นใหม่ ยุติปัญหา “สมองไหล” ไปอียู

ปัญหา “สมองไหล” หรือการที่แรงงานมีฝีมือ ทักษะสูง ย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศบ้านเกิด กำลังกลายเป็นปัญหาของหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่เคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี เพราะช่องว่างรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ ทำให้พลเมืองของประเทศที่มีรายได้ต่ำย้ายถิ่นฐานไปประเทศที่มีรายได้สูงกว่า

สถานการณ์นี้กำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศต้นทาง เพราะแรงงานฝีมือในประเทศหดตัว ทำให้สูญเสียทรัพยากรในการผลักดันเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก หลายประเทศจึงมีมาตรการจูงใจไม่ให้พลเมืองเคลื่อนย้ายออกจากประเทศของตน

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า รัฐสภาโปแลนด์ได้ผ่านร่างกฎหมายยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 18% ให้กับชาวโปแลนด์ที่มีอายุต่ำกว่า 26 ปี และมีรายได้ต่ำกว่า 22,547 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเริ่มมีผลในวันที่ 1 ส.ค. 2562 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะครอบคลุมชาวโปแลนด์ที่มีรายได้ราว 2 ล้านคน

“มาแตอุช มอราวีแยตสกี” นายกรัฐมนตรีของโปแลนด์ระบุว่า กฎหมายนี้จะสร้างโอกาสให้กับคนหนุ่มสาว จากที่ปัจจุบัน “กรุงวอร์ซอทั้งเมืองเหมือนกำลังถูกทิ้งร้าง” สิ่งนี้ต้องจบลงด้วยการที่คนหนุ่มสาวจะต้องอยู่ในโปแลนด์

ปัจจุบันโปแลนด์มีประชากรทั้งสิ้น 38 ล้านคน มอราวีแยตสกีระบุว่า ภายในระยะเวลา 15 ปีนับตั้งแต่โปแลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอียูในปี 2004 มีชาวโปแลนด์ย้ายไปอาศัยอยู่กลุ่มประเทศยูโรโซนถึง 1.7 ล้านคน เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในอียู

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการดึงคนให้อยู่ในประเทศได้มากขึ้นหรือไม่ “ริสซาร์ด เปตรู” สมาชิกรัฐสภาโปแลนด์จาก “พรรคเตราซ !”(Teraz !) ฝ่ายค้านกล่าวว่า มาตรการนี้คือ “ประชานิยมที่หลอกลวง” ที่ “พรรคพีไอเอส” (PiS) ของรัฐบาลใช้หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้

“เฮเทอร์ รอล์ฟ” หัวหน้าฝ่ายนโยบายการจ้างงานและสังคม ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของอังกฤษ แสดงความไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้จะได้ผล เนื่องจากสาเหตุของการย้ายถิ่นฐานไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่คนรุ่นใหม่ต้องการจะหลุดพ้น

ทั้งนี้ การกำหนดอายุผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวเพียง 26 ปี กลายเป็นข้อจำกัดที่จะจูงใจให้ผู้ที่อยู่ในต่างแดนที่คิดจะย้ายกลับมาโปแลนด์ แต่มีอายุเกิน 26 ปี จากผลวิจัยว่า “ช่วงเวลาที่ผู้คนคิดว่าจะอยู่ต่อในต่างแดนหรือจะย้ายกลับบ้านเกิด มักเป็นช่วงที่พวกเขามีบุตรในช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ หรือราวต้น 30 ปี”

คิงกา คีโตฟสกา ชาวโปแลนด์อายุ 22 ปี ซึ่งมาศึกษาก่อนที่จะประกอบอาชีพและพักอาศัยอยู่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุว่า แม้ว่าข้อเสนอของรัฐบาลจะน่าสนใจ แต่ไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้เธอกลับไปยังโปแลนด์ “โอกาสในการทำงานคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ารายได้ระยะสั้น”

นอกจากโปแลนด์ ยังมีหลายประเทศที่ประสบปัญหา “ภาวะสมองไหล” จากข้อมูลของ “ยูโรสแตต” (eurostat) ชี้ว่า “โรมาเนีย” เป็นประเทศที่มีประชากรอายุ 15-64 ปี ที่มีการศึกษาย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นในอียูมากที่สุดราว 3.1 ล้านคน

ส่วนโปแลนด์เป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 2.7 ล้านคน ตามด้วย เยอรมนี 1.4 ล้านคน อิตาลี 1.08 ล้านคน และโปรตุเกส 1.03 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม โปแลนด์เป็นประเทศที่มีผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ย้ายถิ่นฐานมากที่สุดถึง 742,000 คน

จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากเป็นประเทศที่มีรายได้ไม่สูงเมื่อเทียบกับชาติอื่นในอียู ยกเว้น “เยอรมนี” ที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานสูง แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายของชาวต่างชาติที่ต้องการจะย้ายถิ่นฐานเข้าไปด้วยเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นปัญหาภายในของอียู โอกาสในการประกอบอาชีพ และช่องว่างทางรายได้ระหว่างชาติสมาชิกที่ยังคงแตกต่างกันมาก และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันชาวโปแลนด์มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 15,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่หากไปทำงานที่อังกฤษจะมีรายได้เฉลี่ยกว่า 33,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี