“เจโทร” เปิดผลสำรวจครึ่งแรกปีนี้ บริษัทญี่ปุ่นกังวลสภาพธุรกิจ “แย่ลง” เหตุปัจจัยภายนอกรุมเร้า

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร

ในวันนี้ 6 ส.ค. 2562 “หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ” (JCCB) ได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ปรับลดลงมาอยู่ที่ -8 อันหมายถึง “ภาคธุรกิจปรับตัวแย่ลง”

การแถลงผลการสำรวจโดย นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทรคนใหม่และเป็นประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจกล่าวว่า การสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 13 พ.ค. ถึง 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกของ JCCB ตอบแบบสำรวจ 560 รายจากทั้งหมด 1,760 ราย

ซึ่งการสำรวจครั้งล่าสุดชี้ว่า สภาพธุรกิจโดยสะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวม (DI) ของช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ -8 จากครั้งก่อน 18 เป็นการติดลบในรอบ 4 ปีของการสำรวจที่จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง

ประธานเจโทรกล่าวว่า “การติดลบของ DI ไม่ได้สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของบริษัทญี่ปุ่นในไทย แต่สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ผลกระทบจากสงครามการค้า รวมไปถึงความกังวลของการแข็งค่าของเงินบาท”

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร

อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นในไทย พบว่า บริษัทที่คาดว่าจะลงทุน“เพิ่มขึ้น”เป็น 34% มากกว่าการสำรวจในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่มี 30%

แต่สำหรับแนวโน้มการส่งออกบริษัทญี่ปุ่นในไทย มีบริษัทเพียง 28% ที่คาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีจำนวนบริษัทที่คาดการณ์เช่นนี้ลดลงจากผลการสำรวจครั้งก่อน ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นที่มองว่า การส่งออกจะลดลงมีสัดส่วนมากขึ้นเล็กน้อย

ขณะเดียวกัน บริษัทญี่ปุ่นยังมองว่า “เวียดนาม” เป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ (44%) ตามด้วย อินเดีย (34%), อินโดนีเซีย (30%) และ เมียนมา (22%)

ในครั้งนี้การสำรวจได้ถามถึงประเด็น “เงินบาทแข็งค่า” ซึ่งเป็นปัจจัยกังวลเพิ่มเติมของบริษัทญี่ปุ่น โดยการสำรวจถามถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่คำตอบของผู้ที่ตอบแบบสอบถาม ใช้และรับได้กับเรทอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 32.5-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามชี้ด้วยว่า ปัญหาด้านการบริหารองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญ โดยกังวลมากที่สุดเรื่อง การแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรง (61%), ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น (42%) และ ขาดแคลนวิศวกร (26%)

ประเด็นเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน บริษัทส่วนใหญ่ (45%) มองว่าปริมาณการส่งออกจะลดลง, (44%) มองว่าปริมาณยอดขายภายในประเทศจะลดลง และ (18%) มองผลกระทบเชิงบวก คือ การย้ายกำลังการผลิตจากจีนเข้ามาในไทย

สำหรับความสนใจของบริษัทญี่ปุ่นที่มีต่อการลงทุนภายในพื้นที่ EEC มี 17 บริษัท (3%) ที่ตอบว่า สนใจและมีแผนเป็นรูปธรรมที่จะลงทุนภายใน 3 ปี ส่วน 64 บริษัท (13%) สนใจแต่ยังไม่มีการลงทุนชัดเจน และ 411 บริษัท (84%) ตอบว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ”

ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นทั้งในพื้นที่ EEC และภายนอกพื้นที่ ระบุว่า 32% เป็นการลงทุนที่ไม่เข้าข่ายอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ประเภท, 28% เป็นการลงทุนภาคยานยนต์แห่งอนาคต และ 5% คือการลงทุนด้านการบินและโลจิสติกส์

ประธานทาเคทานิ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางเจโทรได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย เกี่ยวกับนโยบายพื้นที่ EEC ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทญี่ปุ่นยังมองว่า เป็นหนึ่งในนโยบายภาครัฐที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างมาก

ขณะที่ข้อกังวลจากบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสอบถามครั้งนี้ และต้องการสะท้อนให้รัฐบาลไทยยกระดับอุตสาหกรรมสู่ “Thailand 4.0” ระบุว่า 5 อุปสรรคสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง, ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น, การขาดทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ, ความต่อเนื่องของนโยบาย และ อุปสงค์ไม่เพียงพอ (ในประเทศและต่างประเทศ)