“อินเดีย” ยึดสิทธิปกครองตนเอง “แคชเมียร์” นานาชาติหวั่นข้อพิพาทชายแดนรอบใหม่

(REUTERS/Mukesh Gupta)

สำนักข่าวบีบีซีรายงานความคืบหน้ากรณี “อินเดีย” เพิกถอนสิทธิปกครองตนเองและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ของ “รัฐจัมมูและแคชเมียร์” โดย “ราม นาถ โกวินท์” (Ram Nath Kovind) ประธานาธิบดีของอินเดียได้ลงนามในการเพิกถอนสิทธิดังกล่าวที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ของอินเดีย ซึ่งระบุให้สิทธิในการปกครองตนเองแก่รัฐจัมมูและแคชเมียร์หลายประการ ยกเว้นด้านการต่างประเทศ การทหาร และการสื่อสาร

รัฐบาลอินเดียให้เหตุผลในการยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าวว่า บทบัญญัตินี้ขัดขวางการพัฒนาของแคชเมียร์เนื่องจากไม่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากแคชเมียร์มีกฎหมายห้ามชาวต่างชาติและชาวอินเดียจากพื้นที่อื่นถือครองอสังริมทรัพย์ หรืออยู่อาศัยเป็นการถาวรในแคชเมียร์ ซึ่งรัฐบาลกลางของอินเดียมองว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และทำให้แคชเมียร์ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอินเดีย

(REUTERS/Mukesh Gupta)

การยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 370 ดังกล่าวเป็นไปยัง “ฉับพลัน” โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลอินเดียได้สั่งการให้มีการอพยพนักท่องเที่ยวและผู้คนบางส่วนออกจากพื้นที่ รวมทั้งส่งทหารเข้าไปประจำการในแคชเมียร์หลายหมื่นนาย และยังมีการตัดช่องทางติดต่อสื่อสารทั้งสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยให้เหตุผลว่าอาจเกิดการก่อการร้าย ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกสิทธิปกครองตนเองของแคชเมียร์ในวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการกักบริเวณโอมาร์ อับดุลลาห์ (Omar Abdullah) และเมห์โบบา มุฟตี (Mehbooba Mufti) อดีตมุขมนตรีของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ไว้ในบ้านพัก

(REUTERS/Amit Dave)

ด้านพรรคภารติยะชนะตะ (BJP) ที่มีแนวคิดแบบฮินดูชาตินิยมซึ่งพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้เสนอต่อรัฐสภาอินเดียให้แบ่งรัฐจัมมูและแคชเมียร์ออกเป็นสองส่วน โดยส่วนหนึ่งเป็นดินแดนแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม รวมกับดินแดนจัมมูที่ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู ขณะที่อีกอีกส่วนหนึ่งที่เป็นดินแดนลาดักห์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ใกล้ชิดกับทิเบตของจีน โดยทั้งสองส่วนนี้รัฐบาลกลางของอินเดียจะเข้าไปบริหารปกครองโดยตรง

(REUTERS/Danish Ismail)

ดินแดนแคชเมียร์เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถานมาเป็นเวลานาน นับตั้งแต่การได้เอกราชจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากปากีสถานอ้างสิทธิในการปกครองแคชเมียร์เพราะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน ขณะที่อินเดียไม่ยินยอมต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้แคชเมียร์กลายเป็นดินแดนที่ยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

ปากีสถานได้ประณามการกระทำครั้งนี้ของอินเดีย โดยชาห์เมห์มูด คูเรชิ (Shah Mahmood Qureshi) รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานระบุว่า “อินเดียกำลังเล่นเกมที่เป็นอันตรายซึ่งจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค” ทั้งนี้ปากีสถานจะ “ใช้ตัวเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด” เพื่อตอบโต้การกระทำครั้งนี้ของอินเดีย

ด้าน อิมราม ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีของปากีสถานได้ระบุว่า การกระทำของอินเดียเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและยังระบุว่า “ผมกังวลว่าอินเดียจะกำลังจะกลืนชาติพันธุ์ในแคชเมียร์”

(REUTERS/Danish Ismail)

ขณะที่ หัว ชุนหยิง (Hua Chunying) โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนระบุว่า จีนคัดค้านต่อการตัดสินครั้งนี้ของอินเดียว่า “การปฏิบัติเช่นนี้ไม่สามารถยอมรับได้และจะไม่มีผลบังคับใช้” ตามรายงายของเดอะ ดิโพลแมท

ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนหนี่งของแคชเมียร์ถือเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนและอินเดียด้วย เนื่องจากจีนอ้างสิทธิในการปกครองเหนือดินแดน “อักไสชิน” (Aksai Chin) ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแคชเมียร์ที่ปัจจุบันถูกรวมไว้ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน หัว ชุนหยิงยังระบุว่า “จีนไม่เห็นด้วยที่อินเดียจะใช้อำนาจในพื้นที่พิพาทดังกล่าว”

สถานการณ์ปัจจุบันในแคชเมียร์ได้มีกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ยังมีควบคุมตัวผู้นำท้องถิ่นหลายราย ขณะที่ชาวแคชเมียร์ในพื้นที่อื่นของอินเดียยังไม่สามารถเดินทางกลับไปยังแคชเมียร์ได้ เนื่องจากการคมนาคมถูกตัดขาด ขณะที่รัฐบาลอินเดียเพิ่มกำลังทหารในพื้นที่ ทำให้แคชเมียร์กลายหนึ่งในพื้นที่ที่มีกองทหารประจำการมากที่สุดในโลกขณะนี้

(REUTERS/Mohammad)
(REUTERS/Mohsin Raza)
(REUTERS/Fayaz Aziz)