สัมพันธ์ “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” สะบั้น ปมขัดแย้งทุบ “ภาคธุรกิจ” สะบักสะบอม

ความสัมพันธ์ของสองเพื่อนบ้าน “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” ร้าวจนแตกหัก หลังจากที่ต้นเดือน ส.ค. รัฐบาลโตเกียวถอดรายชื่อ “โสมขาว” ออกจาก “บัญชีสีขาว” (white list) คู่ค้าที่ไว้ใจและให้สิทธิทางการค้าจากทั้งหมด 27 ประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ 28 ส.ค.นี้ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

“บิสซิเนสโคเรีย” รายงานว่า ความกังวลระหว่างประเทศกำลังเพิ่มมากขึ้น เพราะแนวโน้มการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อโสมขาวจะรุนแรงมากขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะกับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตจอแสดงผล รวมถึงสารตั้งต้นสำหรับผลิตชิปหน่วยความจำในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสินค้าไฮเทคโนโลยีหลัก ๆ ที่เกาหลีใต้ต้องพึ่งพาญี่ปุ่น

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ (MOTIE) ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทเกาหลีใต้ที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าเทคโนโลยีในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนประกอบของสมาร์ทโฟน รถยนต์อนาคต และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้จากญี่ปุ่นราว ๆ 1,120 รายการ ซึ่งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป

คำแถลงการณ์ของ MOTIE กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่เกาหลีใต้ยังมีรายชื่ออยู่ในบัญชีปลอดภัยของญี่ปุ่น ยังต้องได้รับอนุญาตสำหรับการนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง 263 รายการ ซึ่งใช้เวลาคัดกรองเอกสารเบื้องต้นราว 90 วัน ตามกฎระเบียบของญี่ปุ่น ส่วนอีก 857 รายการที่เหลือ บริษัทเกาหลีใต้จะได้รับใบอนุญาตให้นำเข้าได้ทุก ๆ 3 ปี การถอดเกาหลีใต้ออกจาก white list ก็จะยิ่งทำให้อุปสรรคการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวยากลำบากมากขึ้น

“ความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้กำลังบ่อนทำลายทุกกฎระเบียบระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของเกาหลีใต้อย่างมาก” คำแถลงของ MOTIE

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ในกรุงโซล กล่าวว่า ทางการญี่ปุ่นรู้ว่าอะไรคือ “จุดอ่อน” ของเกาหลีใต้ และการจำกัดหรือเพิ่มอุปสรรคในการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้จากญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก สร้างความยากลำบากในการหาแหล่งอื่นทดแทนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ อีกทั้งยังสั่นคลอนตำแหน่ง “เจ้าแห่งเทคโนโลยี” ชั้นนำโลกของเกาหลีใต้ในปี 2019 ด้วย

ไม่ใช่แค่ “เคมีภัณฑ์” ที่เกาหลีใต้ต้องพึ่งพาญี่ปุ่น แต่เครื่องมือที่ใช้ความแม่นยำสูง เส้นใยคาร์บอน ไปจนถึงสารยึดติด เช่น กาว หรือเทปที่มีความเหนียวสูงสุด ก็ยากที่จะหาสิ่งทดแทนได้ทันก่อนถึงดีเดย์บังคับใช้ โดยวัตถุดิบเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ รถยนต์หรู รถยนต์อนาคต และเครื่องบิน แม้แต่ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในการทหาร

ขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อ “ญี่ปุ่น” หลังจากที่ความสัมพันธ์ขาดสะบั้น ยังมุ่งความสนใจไปที่ “สินค้าเมดอินเจแปน” ถูกกระแสแบนตั้งแต่ต้น ก.ค.ที่ผ่านมา และกระแสอาจหนักขึ้นถึงระดับ “วิกฤต” ได้ เพราะว่า “ชาวโสมขาว” เป็นผู้บริโภคสินค้าญี่ปุ่นอันดับต้น ๆ ของโลก เคยมีผลสำรวจของ “เจแปนทูเดย์” ที่ชี้ว่า เกาหลีใต้เป็นลูกค้ารายใหญ่ ท็อป 5 ของญี่ปุ่น ในแง่ของจำนวนแบรนด์สินค้าที่เข้าไปจำหน่ายในเกาหลีใต้

และนับตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นหลายประเภทมียอดจำหน่ายลดลงอย่างชัดเจน ตัวอย่าง เช่น ยอดจำหน่ายเสื้อผ้าแบรนด์ “ยูนิโคล่” ในตลาดเกาหลีใต้ ลดลง 40% ในเดือน ก.ค.เทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า “ร้านยูนิโคล่” สาขาใจกลางกรุงโซล ในย่าน Jongno 3-ga ประกาศปิดร้านอย่างถาวร โดยเจ้าของพื้นที่ระบุว่า ยูนิโคล่ไม่ยื่นเอกสารเพื่อขอต่อสัญญาเช่า

รายงานข่าวระบุว่า ร้านยูนิโคล่เกือบทุกสาขาในเกาหลีใต้ ประมาณ 187 แห่ง กำลังประสบปัญหาเรื่องยอดขาย เพราะกระแสโซเชียลการติดแฮชแท็กว่า “ซื้อยูนิโคล่เท่ากับทรยศชาติ” กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้มีรายงานด้วยว่า เบียร์ญี่ปุ่นหลาย ๆ แบรนด์ก็กำลังได้รับผลกระทบหนัก เช่น อาซาฮี, คิริน, เบียร์ซัปโปโร และซันโทรี ซึ่งทั้ง 4 แบรนด์ถือว่าเป็นเบียร์ที่รับความนิยม และเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ของสิงห์นักดื่มเบียร์ชาวโสมขาว

เอเอฟพีระบุว่า ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยอดขายของเบียร์อาซาฮีและคิรินลดลงไปกว่า 15% และคาดว่าจะลดลงถึง 25% หรือมากกว่านั้น ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. ผลจากปมขัดแย้งเรื่องการถอนเกาหลีใต้ออกจาก white list ของญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือในช่วงเวลาเดียวกัน เบียร์ของเกาหลีใต้หลาย ๆ แบรนด์มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 7% รวมถึงเบียร์เยอรมันเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น

การแบนสินค้าญี่ปุ่นในตลาดเกาหลีใต้กำลังเข้าสู่ระดับ “วิกฤต” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าของร้านค้าเกือบทุกแห่งติดป้ายไม่จำหน่ายสินค้าญี่ปุ่น ทั้งระงับออร์เดอร์นำเข้าสินค้าจากแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่ต้น ก.ค. 2019 “สมาคมร้านขายของชำ” เกาหลีใต้ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 3,700 คนระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. สมาชิกเกินครึ่งยุติคำสั่งซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น ขณะที่เกือบ 1,000 ร้านค้า หยุดสั่งซื้อสินค้าขายดีของญี่ปุ่น เช่น เบียร์ บุหรี่ ปลาสด อาหารจานด่วน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเครื่องสำอาง เพื่อร่วมกดดันรัฐบาลญี่ปุ่น

ปมขัดแย้งนี้ทำท่าจะยกระดับความรุนแรงเป็นวงกว้าง ทั้งยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ได้เร็ว ๆ นี้ โดยนักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มองว่า “ปัญหานี้จะจบลงได้ก็ต่อเมื่อญี่ปุ่นยอมรับการกระทำของตัวเองในอดีต และมีข้อเสนอที่ดีกว่าให้รัฐบาลโซล”