อุตฯยานยนต์ “อินเดียวิกฤต” ค่ายรถปิดโรงงาน-เลิกจ้างนับแสน

REUTERS/Adnan Abidi

ปัญหาว่างงานยังคงเป็นความท้าทาย นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ยิ่งการชนะการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 ยิ่งมีความคาดหวังที่ผู้นำจะแก้ปัญหาได้มากขึ้น ขณะที่การว่างงานในอินเดียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลสำรวจช่วง พ.ค. 2018-เม.ย. 2019 พบว่า อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น 7.5% อยู่ที่ 18.9 ล้านคน ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 45 ปี โดย “อุตสาหกรรมรถยนต์” เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด

“รอยเตอร์ส” รายงานว่า แหล่งข่าวระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียระบุว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2019 อุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมกว่า 350,000 คน ทั้งในภาคผู้ผลิตรถยนต์, ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย

“อุตสาหกรรมรถยนต์ในอินเดียกำลังดำดิ่งมากขึ้น การปรับลดพนักงานเกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากมีโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งในอินเดียมีการปิดตัว รวมถึงการลดชั่วโมงการทำงาน”

แหล่งข่าวระบุว่า ปัญหาของภาครถยนต์ในอินเดียอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คาดคิด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 35 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 50% ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในอินเดีย เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในอินเดียลดลงอย่างต่อเนื่อง

“วิศนุ มธุรา” ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ของอินเดีย (SIAM) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 7% ของจีดีพี การเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดที่เคยประสบ และคาดว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียมีปัญหาในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา เหล่าผู้บริหารค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมถึงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นำเข้า รวมตัวกันเพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังอินเดีย เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ซึ่งมุ่งไปที่การขอปรับลดภาษีรถยนต์ จากปัจจุบันเก็บระหว่าง 5-28% ซึ่งรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายมาก เช่น รถยนต์ส่วนบุคคลและรถตู้ ส่วนใหญ่จะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 28%

พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลพิจารณา และออกมาตรการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้สำหรับการซื้อรถยนต์ง่ายขึ้น โดยอ้างว่ายอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง 9 เดือนติดต่อกันจนถึงเดือน ก.ค. รวมถึงรถประเภทอื่น ๆ ทั้งรถจักรยานยนต์ก็มียอดขายลดลงเช่นกัน

นายวิศนุเปิดเผยว่า ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเพื่อลดต้นทุนของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ได้แก่ “ทาทา มอเตอร์” ที่ตัดสินใจปิดโรงงานผลิต 4 แห่ง ขณะที่ “มหินทราแอนด์มหินทรา” (Mahindra & Mahindra) ผู้ผลิตรถยนต์ของอินเดียประกาศว่า โรงงานทุกแห่งทั่วประเทศหยุดดำเนินการผลิตราว 5-13 วันต่อเดือน ในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2019 เพราะไม่มีออร์เดอร์ใหม่เข้ามา จึงต้องลดต้นทุนการจ้างงาน

ขณะที่ “ฮอนด้า” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศหยุดผลิตรถยนต์บางรุ่นในโรงงานที่รัฐราชสถาน ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา และระงับการผลิตทั้งหมดในโรงงานแห่งที่ 2ในเมืองเกรตเตอร์นอยดา เป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจำนวนมากที่ปรับลดพนักงานในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อาทิ “มารูติ ซูซูกิ” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของอินเดียได้ปรับลดคนงาน 6% ของแรงงานทั้งหมด รวมถึงเดนโซ่ คอร์ป และซูซูกิ มอเตอร์ ของญี่ปุ่น ก็มีปลดพนักงานบริษัทละประมาณ 800-1,000 อัตรารวมถึง “ยามาฮ่า มอเตอร์” ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์

ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่าง วาลีโอ (Valeo), ซูบรอส (Subros) ของฝรั่งเศส ปลดคนงานแล้วบริษัทละประมาณ 1,700 คน

ส่วน “วีลส์ อินเดีย” (Wheels India) ซัพพลายเออร์ยานยนต์ของอินเดีย ปรับลดไปราว 800 คน และ Vee Gee Kaushiko ผู้ผลิตชิ้นส่วนของอินเดีย ก็ลดคน 500 อัตรา

ขณะที่ภาพรวมยังส่งสัญญาณว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อาจปรับลดคนงานเพิ่ม หากยอดขายรถยนต์ยังไม่ดีขึ้น

ศูนย์ติดตามเศรษฐกิจอินเดีย (CMIE) ระบุว่า รัฐบาลโมดีให้ความสนใจในการพัฒนา “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือรถยนต์ไร้คนขับ อย่างบ้าคลั่ง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศ แต่กลับละเลยภาคอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิม ซึ่งเกี่ยวโยงกับแรงงานอินเดียจำนวนมาก ดังนั้น หากโมดียังไม่ยื่นมือช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอุตฯรถยนต์โดยด่วน คาดว่าอัตราการว่างงานในอินเดียจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือมากกว่านั้นในปี 2020

และ “อินเดีย” อาจจะกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนคนว่างงานขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเร็ว ๆ นี้