สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกากลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง หลังจาก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ก.ย. 2019 หลังการเจรจา 2 ฝ่ายเมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่เซี่ยงไฮ้ไม่คืบหน้า
ส่งผลให้จีนประกาศยุติการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐ รวมถึงพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมสำหรับสินค้าเกษตรของสหรัฐตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลสำคัญว่า การกระทำของสหรัฐละเมิดข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กับประธานาธิบดีทรัมป์ในการพบปะกันในเวที “จี 20” ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
“สินค้าเกษตรของสหรัฐ” กลายเป็นอาวุธหลักของจีนในสงครามการค้า เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐ รองจากเม็กซิโก แคนาดาและญี่ปุ่น ตามรายงานของ “ซีเอ็นบีซี” โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐสูงถึง 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 โดยเฉพาะ “ถั่วเหลือง” ราว 60% ถูกส่งออกไปยังจีน ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ
“แพท เวสต์ฮอฟฟ์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายอาหารและการเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี ระบุว่า การปะทุขึ้นอีกครั้งของสงครามการค้า ทำให้ราคาถั่วเหลืองปรับตัวลดลงไปแล้ว 9% โดยการส่งออกถั่วเหลืองของสหรัฐไปยังจีนในช่วงเดือน ก.ย. 2018-พ.ค. 2019 อยู่ที่เพียง 7 ล้านตัน ลดลงมากถึง 70% จาก เดือน ก.ย. 2017-พ.ค. 2018 ซึ่งมีการส่งออก 22.7 ล้านตัน
เวสต์ฮอฟฟ์ยังระบุว่า ราคาถั่วเหลืองที่ตกต่ำลงเนื่องจากสงครามการค้ายังจะส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เพราะเมื่อความต้องการถั่วเหลืองลดน้อยลง เกษตรกรก็จะหันไปปลูกพืชชนิดอื่นมากขึ้น เช่น ข้าวโพด ซึ่งจะทำให้ปริมาณข้าวโพดล้นตลาดและราคาตกลงไปด้วย
พื้นที่สหรัฐที่จะได้รับผลกระทบหนัก คือ รัฐที่อยู่ตอนกลางของประเทศ อย่างมิชิแกน โอไฮโอ วิสคอนซิน ไอโอวา และเพนซิลเวเนีย ซึ่งทำการเกษตรเป็นหลัก โดย “แพตตี้ จัดจ์” อดีตรองผู้ว่าการรัฐและผู้ดูแลด้านการเกษตรรัฐไอโอวา ระบุว่า การสูญเสียคู่ค้าอย่างจีนเป็น “สถานการณ์ที่เป็นอันตราย” และนอกจากความสัมพันธ์กับจีนที่ย่ำแย่แล้ว ขณะเดียวกันสหรัฐยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าร่วมกับ “เม็กซิโกและแคนาดา” ให้นำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นได้ และการขึ้นภาษีของทรัมป์ยังสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกการเงิน จากการที่เงินหยวนอ่อนค่า
นอกจากนี้เกษตรกรของสหรัฐยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ รวมถึง “ไข้หวัดหมูแอฟริกัน” ที่ทำให้ความต้องการถั่วเหลืองและพืชสำหรับเลี้ยงหมูลดลงอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเกษตร 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือน พ.ค. แต่เงินช่วยเหลือส่วนใหญ่ลงไปไม่ถึงเกษตรกรรายย่อย และนี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาดย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการชำระหนี้ ซึ่งซ้ำเติมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐชี้ว่า รายได้สุทธิของภาคเกษตรสหรัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 45% จาก 123.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 ลงมาอยู่ที่ 63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018
ปัญหาการเกษตรของสหรัฐนอกจากจะกระทบด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบทางการเมืองด้วย “จอห์น รุตเลดจ์” (John Rutledge) หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ “ซาฟาเนด” (Safanad) บริษัทลงทุนรายใหญ่ระดับโลกระบุว่าไม่แปลกที่จีนจะเลือกใช้สินค้าเกษตรเป็นอาวุธในสงครามการค้า เพราะนอกจากจะกระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แล้วยังกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของประธานาธิบดีทรัมป์
“เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการตอบโต้” รุตเลดจ์กล่าว พร้อมคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คงไม่ยอมให้สงครามการค้าจบลงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2020 เพราะสงครามการค้าอีกด้านก็เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อทรัมป์ด้วย
ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ทวีตข้อความว่า จีนจะไม่สามารถทำร้ายเกษตรกรของสหรัฐได้ เนื่องจาก “ประธานาธิบดียืนอยู่ข้างพวกเขา” เป็นการส่งสัญญาณว่า ทรัมป์ยังคงไม่ทอดทิ้งภาคการเกษตร และจะมีมาตรการช่วยเหลือตามมาอีกในไม่ช้า ก่อนหน้าที่คะแนนนิยมของทรัมป์จะลดลงตามความคาดหวังของจีน