“ประท้วงฮ่องกง” ทุบธุรกิจอ่วม จาก “การเงิน” สู่ “ท่องเที่ยว”

REUTERS/Issei Kato
“ประท้วงในฮ่องกง” ต่อต้านรัฐบาลดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 สถานการณ์กำลังบานปลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ธุรกิจการเงิน ลามไปจนถึง “ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว” หลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่ที่ท่าอากาศยานฮ่องกงเป็นเวลา 3 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน

ซีเอ็นเอ็น บิสซิเนส รายงานว่า การประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ลากยาวต่อเนื่องมามากกว่า 10 สัปดาห์แล้ว และกำลังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงในฐานะที่เป็น “ศูนย์กลางการเงินโลก” ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่สัปดาห์ก่อน สภาหอการค้าฮ่องกงแถลงการณ์ว่า “การประท้วงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ แต่กำลังสร้างความเสียหายต่อองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่สำคัญคือ ทำลายความเชื่อมั่นด้านระบบความปลอดภัย และการดำรงชีวิตของคนฮ่องกง”

พร้อมระบุว่า ฮ่องกงเป็นที่ตั้งของ 7 บริษัท ซึ่งอยู่รายชื่อบริษัทชั้นนำของโลก 500 แห่ง หรือที่รู้จักกันว่า “Fortune 500” โดยย้ำว่า “สถานะของฮ่องกงที่ผ่านมาได้รับการยกย่องในด้านระบบกฎหมายแบบกึ่งอิสระในการปกครองตนเอง และมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับจีนแผ่นดินใหญ่”

โดยเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา สภาหอการค้าอเมริกาในฮ่องกงเป็นองค์กรต่างชาติแรก ๆ ที่แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในฮ่องกงอย่างชัดเจนว่า นักธุรกิจอเมริกันมองว่าสถานการณ์ในฮ่องกงเป็น “ภัยร้ายแรง” ต่อภาคธุรกิจและการลงทุน จึงตัดสินใจระงับการลงทุนชั่วคราว ขณะที่สภาหอการค้ายุโรปในฮ่องกงกล่าวว่า “วิกฤตการประท้วงในฮ่องกงไม่ใช่แค่ระยะสั้น แต่กำลังเข้าสู่ระยะกลางและยาว ภาคธุรกิจยุโรปกำลังไตร่ตรองผลกระทบจากการประท้วง และอาจระงับการทำธุรกิจชั่วคราว”

REUTERS/Tyrone Siu

ทั้งนี้ การประท้วงบล็อกอาคารขาเข้าที่ท่าอากาศยานฮ่องกงเป็นเวลา 3 วันเมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อเนื่องจากวันที่ 5 ส.ค. ที่เคยปิดล้อมท่าอากาศยานในครั้งแรก โฆษกคณะกรรมการการท่องเที่ยวฮ่องกงกล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฮ่องกง รวมไปถึงภาคธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เสี่ยงถูก “ชัตดาวน์” หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งการประท้วงยกระดับความรุนแรงมากขึ้นมาร่วม 2 เดือนแล้ว

“การท่องเที่ยวถือเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้คิดเป็น 5% ของจีดีพีฮ่องกง และนับตั้งแต่เดือน ก.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเกือบ 50% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยแต่ละปีชาวจีนมาฮ่องกงเฉลี่ย 20 ล้านคน และสูงสุดอยู่ที่ 27 ล้านคน” โฆษกกล่าว

และที่น่ากังวล คือ เพียงสัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าลดลงแล้ว 31% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.ย.ปีนี้

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

“มิแชล ลอว์” (Michelle Low) ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท Swire Pacific ซึ่งถือหุ้น 45% ในสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค กล่าวว่า การประท้วงกำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับห้างสรรพสินค้าแปซิฟิก เพลส ของบริษัท รวมถึงค้าปลีกอื่น ๆ ที่อยู่ในย่านแอดมิรัลตี้ (Ad-miralty) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ย่านที่กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักประท้วงมานาน ล้วนเป็นย่านธุรกิจชั้นนำของฮ่องกงทั้งสิ้น

คำแถลงการณ์ไม่ได้ระบุถึงยอดบุ๊กกิ้งของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิคที่ลดลง แต่ประเมินว่าผลกระทบต่อการจองเที่ยวบินในอนาคตจะลากยาวไปถึงเดือน ต.ค.นี้ พร้อมระบุถึง “กฎระเบียบใหม่” ที่ไม่อนุญาตให้พนักงานที่สนับสนุนต่อต้านรัฐบาลฮ่องกง ทำงานบนเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่จีน หรือในเส้นทางบินที่ผ่านน่านฟ้าจีน และตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สายการบินมีหน้าที่ต้องส่งรายชื่อและรายละเอียดลูกเรือไปยังรัฐบาลจีนเพื่อรับการอนุมัติ

เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อน นั่นหมายถึงธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร โดยเฉพาะในย่านท่องเที่ยวของเกาะฮ่องกง ต่างก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. เรียกได้ว่าเป็น “ฤดูกาลท่องเที่ยว” ในฮ่องกง โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (IHG) เผยว่า ยอดการจองห้องพักชะลอไปจนถึงเดือน ต.ค. โดยยอดจองห้องพักในเดือน ก.ค. ลดลงกว่า 20% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับโรงแรมแมริออท ที่ยอดจองห้องพักเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ลดลงไปราว 23%

รายงานยังกล่าวถึง “ธุรกิจค้าปลีก” ว่ากำลังเจ็บปวดกับสถานการณ์การประท้วงไม่ต่างกับภาคธุรกิจอื่น “แอนนี่ เหยา เจ้” (Annie Yau Tse) ประธานสมาคมการค้าปลีกฮ่องกง กล่าวว่า “ฤดูกาลช็อปปิ้ง” ในฮ่องกงคือ เดือน ก.ค.-ส.ค. แต่การประท้วงที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ยอดขายค้าปลีกลดลงเป็นเลข 2 หลัก ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ Swire Properties นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วฮ่องกง กล่าวว่า การประท้วงทำให้ไม่มีคนเดินห้าง ทำให้เมื่อต้นเดือน ส.ค. มีร้านค้าในห้างหลายรายที่ปิดให้บริการชั่วคราวโดยอ้างว่า “ปิดปรับปรุง”

แม้แต่ “แบรนด์หรู” เช่น PRADA สินค้าหรูจากอิตาลี ที่เคยทำกำไรจากตลาดฮ่องกงได้ในช่วงพีกไทม์ช็อปปิ้ง สูงสุด 20% จากยอดขายทั่วโลก ยอมรับว่า ยอดขายในเดือน ก.ค. ลดลงจากความปั่นป่วนทางการเมืองในฮ่องกง

นักวิเคราะห์จากฟิทช์ เรทติ้ง มองว่า หากการประท้วงในฮ่องกงยังไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก ๆ อาจตัดสินใจระงับการดำเนินธุรกิจลง เหมือนที่ก่อนหน้านี้

“เอชเอสบีซี” ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ประกาศปิดบางสาขาชั่วคราว ขณะที่ธนาคารข้ามชาติอีกหลายรายกำลังพิจารณาที่จะระงับการให้บริการจนกว่าสถานการณ์ในฮ่องกงจะสงบลงเช่นกัน

สิ่งสำคัญที่สุดหลังจบสิ้นการประท้วง คือ การเรียกคืนความเชื่อมั่นภาพลักษณ์ของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก และเป็นเกตเวย์สู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยภาคธุรกิจสามารถตั้งอยู่บนมาตรฐานการกำกับดูแล, หลักนิติธรรม, กรอบนโยบาย และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในรูปแบบของฮ่องกงอย่างเสรี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ “แตกต่าง” จากแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง