“สงครามค่าเงิน” จีน-สหรัฐ สงครามที่มีแต่คนแพ้

REUTERS/Thomas White/Illustration/File Photo/
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ยังไม่มีใครแน่ใจว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน จะลามปามขยายวงออกไปเป็นสงครามค่าเงินจริง ๆ หรือไม่ เพราะเพียงแค่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แสดงท่าทีส่อสัญญาณนี้ออกมา บรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ก็ห้ามปรามกันให้วุ่น

เหตุผลสำคัญของการเตือนก็คือ สงครามค่าเงินก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่ผลรับมีน้อยและชั่วขณะเต็มที

สำหรับสหรัฐอเมริกา นั่นหมายถึงการทำร้ายตัวเองสาหัสด้วยการเร่งรัดให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้นเท่านั้น

ปัญหาก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังคงเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เช่นนั้นก็คงรับฟังคำเตือนของใครต่อใครแล้วไม่เริ่มต้นก่อศึกการค้าด้วยกำแพงภาษีขึ้นมาตั้งแต่แรก

จนกลายเป็นการติดกับตัวเองชนิดหาทางออกได้ยากเย็นมากอย่างที่เป็นอยู่ในยามนี้

ดังนั้น ถ้าใครคิดว่าสงครามค่าเงินจะไม่เกิดขึ้น ก็คงต้องกลับไปทบทวนความเป็นมาของสงครามการค้าและการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 ดูให้ดี

สถานการณ์ตอนนี้ทรัมป์ตกอยู่ในฐานะใกล้เคียงกันกับเมื่อครั้งนั้นอยู่มาก เดิมพันก็คือตำแหน่งประธานาธิบดีเหมือน ๆ กันอีกด้วย

การลดค่าเงินนั้นมองอย่างผิวเผินก็อาจนับได้ว่าเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่มีประโยชน์ประการหนึ่งสำหรับประเทศที่สถานะทางเศรษฐกิจยุ่งยากลำบาก

แต่ทุกครั้งที่ค่าเงินลดลงจะเกิด “ผลข้างเคียง” ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นเสมอ เป็นความเสี่ยงทั้งต่อประเทศที่ลดค่าเงินเอง และเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

เหตุผลที่นักวิเคราะห์และนักวิชาการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการ “ส่งสัญญาณ” เรื่องนี้ด้วยการสั่งการให้กระทรวงการคลังขึ้นบัญชีประเทศจีนว่าเป็นชาติที่บิดเบือนค่าเงิน จึงไม่ได้มีเหตุผลเพียงเพราะข้ออ้างของรัฐบาลอเมริกันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่านั้น

ยังเป็นเพราะเกรงว่าการตีตราจีนว่าเป็นชาติที่บิดเบือนค่าเงิน จะนำไปสู่สงครามค่าเงินขึ้นตามมา

ข้อเท็จจริงก็คือ อย่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2014 เรื่อยมาจีนเข้าแทรกแซงตลาดเงินเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์ลดลงต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม

เป็นการแทรกแซงเพื่อให้หยวนแข็งค่ามากขึ้น ตรงกันข้ามกับที่ทรัมป์พยายามบอกต่อคนอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของตนโดยสิ้นเชิง

รายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเรื่องค่าเงินหยวน ยืนยันกรณีนี้ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนจีนย่อมบังเกิดความเย้ายวนใจในอันที่จะใช้วิธีนี้ไปตอบโต้กับมาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกา

แต่ด้วยสภาพเปราะบางของตลาดทุนตลาดเงินและภาพรวมทางเศรษฐกิจโลกอย่างเช่นในเวลานี้ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมหาศาลมากอย่างยิ่ง ถ้าหากจีนทำเช่นนั้น

ความเสี่ยงแรกสุด คือ บรรดานักเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้น ที่ยังคงเป็นเหมือนเสือหิวคอยจับตาเหยื่ออยู่ไม่กะพริบ

แม้เชื่อกันว่าจีนในยามนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือและประสบการณ์ในการควบคุมการเก็งกำไรค่าเงินทั้งในตลาดออนชอร์และออฟชอร์ได้มากและดีกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

แต่ก็ยังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการส่งสัญญาณผิด ๆ ไปยังนักลงทุนทั้งตลาดโลก จนอาจจุดประกายให้เกิดการอ่อนค่าลงแบบเร็วและแรงชนิดนอกเหนือการควบคุมเอาง่าย ๆ

ความมั่นใจในเสถียรภาพค่าหยวนที่สั่งสมมา อาจมลายหายไปในพริบตา

สำหรับสหรัฐอเมริกา การทำให้ค่าดอลลาร์อ่อนลงไม่ใช่เรื่องง่าย แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) ไม่มีทีท่าว่าจะเออออห่อหมกด้วยเช่นนี้

เหตุผลก็คือ ดอลลาร์ใช้กันเป็นสกุลหลักในระบบการเงินทั่วโลก ปริมาณที่หมุนเวียนอยู่มีมหาศาลมาก ต้องใช้เงินเท่าใดแทรกแซงถึงจะสามารถทำให้อ่อนค่าลงได้เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักสำคัญ ๆ อื่น ๆ ?

สมมุติว่าสหรัฐอเมริกาพยายามทำแล้วทำได้ คำถามก็คือจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ?

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ บรรดาชาติที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ที่เป็นคู่แข่งของสหรัฐอเมริกา ไล่ตั้งแต่จีนไปจนถึงอินเดียและสหภาพยุโรป ไม่เว้นแม้แต่ไทย และอีเมอร์จิ้งคันทรี่ทั้งหลายก็ต้องลดค่าเงินของตนเองเป็นการตอบโต้

นั่นคือสงครามค่าเงินในระดับโลกที่สุดท้ายแล้วทำให้ตลาดเงินทั้งโลกปั่นป่วนจนโกลาหล

ในสภาวะโกลาหลเช่นนั้น สกุลเงินที่ทุกคนต้องการถือครองคือสกุลเงินที่คิดกันว่ามั่นคงที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นเงินดอลลาร์ !

การพยายามแทรกแซงให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง จึงยิ่งส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้สูงสุดเมื่อเทียบกับทุกสกุล

ทีนี้ลองจินตนาการดูว่า ในสภาพดอลลาร์แข็งโป๊กเช่นในตอนนั้น จะเกิดอะไรขึ้นกับหนี้ในรูปเงินตราต่างประเทศในประเทศหนึ่งประเทศใดที่สั่งสมกันไว้มหาศาล ทั้งตุรกี อิตาลี และอีกหลายประเทศเศรษฐกิจใหม่

มูลค่าหนี้เหล่านั้นพุ่งกระฉูดเพราะดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมหาศาลจนเกินกำลังจะชำระ

เพียงเท่านี้วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหม่ก็จะลามออกไปทั่วโลกได้อย่างชัดเจนและง่ายดายมาก ซึ่งหมายถึงปัญหาสาหัสทั้งในแง่ของการลงทุน, การผลิต และการจ้างงานทั่วโลก

ไม่มีใครชนะ มีแต่ผู้แพ้อย่างแท้จริง ในสภาวะสงครามค่าเงินระเบิดเต็มรูปแบบเช่นนั้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!