กดดันหนัก! ซีอีโอคาเธร์ แปซิฟิค ลาออก หลังจีนจี้ไล่พนักงานร่วมประท้วงฮ่องกง

Thomas Peter/REUTERS

“รูเพิร์ต ฮอกก์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ “คาเธร์ แปซิฟิค” สายการบินของฮ่องกงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากแรงกดดันจากกฎระเบียบใหม่ของ “หน่วยงานกำกับการบินพลเรือนของจีน” (CAAC) ที่ระบุให้สายการบินต้องส่งรายชื่อพนักงานทุกคนที่จะเดินทางไปในเที่ยวบินที่จะลงจอดหรือผ่านน่านฟ้าของจีน เพื่อตรวจสอบก่อนได้รับอนุญาตให้ลงจอด ซึ่งพบว่ามีพนักงานที่มีส่วนร่วมกับการประท้วงในฮ่องกงอาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเครื่องลงจอดได้ ทำให้คาเธร์ แปซิฟิคต้องเตือนพนักงานว่าอาจถูกเลิกจ้าง หาก “สนับสนุนหรือเข้าร่วมการประท้วงที่ผิดกฎหมาย” ในฮ่องกง

รูเพิร์ต ฮอกก์ ซีอีโอคาเธร์ แปซิฟิค (Anthony Wallace/AP)

นอกจากนี้ ยังเกิดกระแสแบนการใช้บริการสายการบินคาเธร์ แปซิฟิกในจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากเชื่อว่าสายการบินดังกล่าวให้การสนับสนุนการประท้วง จนเกิดแฮชแท็ก #BoycottCathayPacific ในโซเชียลมีเดียของจีน ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของคาเธร์ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 10 ปีเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับมาดีดตัวขึ้นอีกครั้งหลังบริษัทยืนยันที่จะปฏิบัติตามระเบียบการบินใหม่ของจีนและเลิกจ้างนักบินที่มีส่วนร่วมในการประท้วง 2 ราย

ส่วนผู้ที่จะมารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่แทนฮอกก์คือ “ออกัสตัส ถัง” ผู้บริหาร “เอชเออีซีโอ” บริษัทด้านวิศวกรรมและการบำรุงรักษาเครื่องบินในเครือของบริษัท “สไวร์ แปซิฟิค” (Swire Pacific) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของคาเธย์ แปซิฟิคด้วย

นอกจากนี้ “พอล ลู” ผู้บริหารสายงานลูกค้าและการพาณิชย์ของคาเธร์ แปซิฟิกยังได้ลาออกด้วย โดย “โรนัลด์ ลัม” ผู้บริหารสายการบินต้นทุนต่ำ “ฮ่องกง เอ็กซเพรส” ในเครือของคาเธย์จะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวแทน

“จอห์น สโลซาร์” ประธานของคาเธย์ แปซิฟิคระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามต่อความรับผิดชอบของคาเธย์ในการให้บริการเที่ยวบินที่มีสวัสดิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งยังผลักให้ชื่อเสียงของบริษัทตกอยู่ในภาวะกดดัน “เราเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีผู้บริหารชุดใหม่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับสายการบินได้”

สโลซาร์ยังระบุด้วยว่า “คาเธร์ยึดมั่นในหลักการฮ่องกงภายใต้แนวทางหนึ่งประเทศสองระบบอย่างแน่วแน่ในฐานะหลักการพื้นฐาน และเรามั่นใจว่าฮ่องกงจะมีอนาคตที่ดี” ตามรายงานของบีบีซี

ทั้งนี้ ฮอกก์เข้ารับตำแหน่งซีอีโอของคาเธย์ แปซิฟิคมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2017 เขาได้ระบุในอีเมล์เพื่อแจ้งการลาออกจากตำแหน่งต่อพนักงานของคาเธย์ตามรายงานของรอยเตอร์ส ระบุว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญและร้ายแรงอย่างยิ่งของบริษัทของเรา ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าบริษัทของเราต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนักซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากตลาดสำคัญอย่างจีนแผ่นดินใหญ่”

การลาออกอย่างกระทันหันของซีอีโอคาเธย์ แปซิฟิคครั้งนี้ ยังเป็นสัญญาณเตือนไปถึงบริษัทข้ามชาติอีกหลายรายที่มีฐานอยู่ในฮ่องกง อย่าง “เอชเอสบีซี โฮลดิงส์” และ “จาร์ดีน เมทเธอสัน โฮลดิงส์” ให้ยินยอมร่วมมือรัฐบาลจีนในการควบคุมพนักงานไม่ให้สนับสนุนการประท้วงในฮ่องกงด้วย