“มาครง” ชงปัญหาไฟไหม้ป่าแอมะซอน เข้าที่ประชุม “G7” สุดสัปดาห์นี้

(REUTERS/Ueslei Marcelino)

บีบีซีรายงานว่า “เอ็มมานูแอล มาครง” ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสเตรียมนำปัญหา “ไฟไหม้ผืนป่าแอมะซอน” เข้าหารือกับผู้นำชาติมหาอำนาจ โดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนที่น่ากังวลใจในระดับนานาชาติ ในที่ประชุมสุดยอด “จี 7” ที่ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 24-25 ส.ค.นี้

มาครงระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “บ้านของเรากำลังถูกไฟไหม้ ป่าดิบชื้นแอมะซอนซึ่งเป็นปอดที่ผลิตออกซิเจนให้กับโลกของเราถึง 20% กำลังตกอยู่ในกองเพลิง มันคือวิกฤติของนานาชาติ สมาชิกของกลุ่มประเทศจี 7 จะหารือกันในประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนอันดับหนึ่งในการประชุม 2 วัน” พร้อมติดแฮชแท็ก “#ActForTheAmazon” (ลงมือทำเพื่อแอมะซอน)

ด้าน “อันโตนิโอ กูเตอร์เรส” เลขาธิการแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งถึงปัญหาไฟไหม้ในแอมะซอน โดยระบุว่า “ท่ามกลางวิกฤติของสภาพภูมิอากาศโลก เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งออกซิเจนและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญไปมากกว่านี้ เราต้องปกป้องแอมะซอน”

อย่างไรก็ตาม “ชาอีร์ โบลโซนาโร” ประธานาธิบดีแห่ง “บราซิล” ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของป่าดิบชื้นแอมะซอนระบุว่า ประธานาธิบดีมาครงกำลังใช้ประเด็นดังกล่าวเพื่อ “ผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนบุคคล” เนื่องจากการหารือในเรื่องไฟไหม้ป่าแอมะซอนในที่ประชุมจี 7 โดยที่บราซิลไม่ได้มีส่วนร่วมนั้น ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของบราซิลและ “รื้อฟื้นความคิดแบบอาณานิคม”

ทั้งนี้ ป่าแอมะซอนถือได้ว่าเป็นพื้นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ของโลก ซึ่งช่วยชะลอความรุนแรงของสภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ผืนป่าแอมะซอนยังมีความหลากหลายทางระบบนิเวศโดยมีพืชและสัตว์ท้องถิ่นกว่า 3 ล้านชนิด อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของชนพื้นเมืองอีกกว่า 1 ล้านคน

(Satellite image ©2019 Maxar Technologies via AP)

ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมจาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยอวกาศ (Inpe) ของบราซิลเปิดเผยว่า อัตราการเกิดไฟไหม้ทั่วประเทศบราซิลเพิ่มขึ้นถึง 85% จาก 39,759 ครั้งตลอดทั้งปี 2018 เป็น 75,000 ครั้งในช่วง 8 เดือนของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผืนป่าแอมะซอน

นักเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เรียกร้องให้รัฐบาลของโบลโซนาโรรับผิดชอบต่อกรณีไฟไหม้ดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลบราซิลมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนามากกว่าการอนุรักษ์ โดยส่งเสริมการรุกพื้นที่ป่าเพื่อเปิดที่ดินสำหรับทำการเกษตร

REUTERS/Ueslei Marcelino

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบราซิลยังคงไม่สามารถสรุปสาเหตุของไฟไหม้ครั้งนี้ แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้เกิดจากหน่วยงานราชการ แต่อาจเป็นฝีมือขององค์กรเคลื่อนไหวภาคเอกชนที่ไม่พอใจรัฐบาล หรือกลุ่มเกษตรกรที่เผาไร่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามรัฐบาลบลาซิลยังคงไม่มีหลักฐานในการกล่าวหากลุ่มดังกล่าว

ขณะที่โลกโซเซียลต่างก็แสดงความวิตกต่อสถานการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอนด้วยการติดแฮชแท็ก #PrayforAmazonia หรือภาวนาเพื่อแอมะซอน อีกด้วย