‘World Robot 2019’ ปักกิ่ง จีนครองแชมป์ ‘ผู้ผลิตหุ่นยนต์’

A robot designed to resemble a bird is seen at the 2019 World Robot Conference in Beijing on August 20, 2019. (Photo by WANG Zhao / AFP)

ล้อมกรอบ

ปัจจุบันการวิจัยพัฒนาและการผลิตหุ่นยนต์ทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้มาก โดยเฉพาะในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน ก็มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดมีการจัด “ประชุมหุ่นยนต์โลก 2019” (World Robot Conference2019) ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ภายใต้ธีม “ระบบนิเวศอัจฉริยะเปิดประตูสู่ยุคใหม่” (Intelligent Ecosystem for a New Open Era) ระหว่างวันที่ 20-25 ส.ค. 2019

นอกจากมีการประชุม ภายในงานยังมีการจัดแข่งขัน และแสดงนวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์ต้นแบบมากกว่า 700 แบบ โดยมีบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์เข้าร่วมงานกว่า 166 บริษัท จาก 22 ประเทศทั่วโลก และผู้เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กว่า 4,500 คน

ในงานมีการเปิดเผยข้อมูลว่าในปี 2018 จีนมีการผลิตหุ่นยนต์ออกมาถึง 148,000 โมเดล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 38% ของหุ่นยนต์ที่มีการผลิตออกมาทั้งโลก

“เหมียว เว่ย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน กล่าวในการเปิด
การประชุมหุ่นยนต์โลกว่า แม้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ทั่วโลกอาจชะลอตัวลงในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ และปัญหาในการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี แต่การเร่งยกระดับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยังสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่รายงานของสถาบันอิเล็กทรอนิกส์จีนเปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาจีนกลายเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น1 ใน 3 ของยอดขายทั่วโลก ส่วนสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติคาดการณ์ว่า ในปี 2021 ประเทศจีนจะมีสัดส่วนหุ่นยนต์ราว 130 ตัวต่อประชากร 10,000 คน

บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี “ไอดีซี” คาดการณ์ว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นถึง 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยในภูมิภาคเอเชียจะมีการเติบโตสูงที่สุด โดยเฉพาะ “ญี่ปุ่น และจีน”

สำหรับในงานหุ่นยนต์โลก 2019 มีการจัดแสดงหุ่นยนต์หลายประเภท ทั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์บริการหุ่นยนต์เฉพาะทาง และหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะ แต่ที่เป็นไฮไลต์ของงานครั้งนี้ คือ “หุ่นยนต์ไบโอนิก” หรือหุ่นที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นนก, สุนัข, แมงกะพรุน หรือปลา เป็นต้น

อย่างเช่น “เฟสโต” (Festo) บริษัทหุ่นยนต์ของเยอรมันที่จัดแสดง “สมาร์ทเบิร์ด” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีต้นแบบมาจากนกนางนวลแฮริ่ง โดยภายในหุ่นยนต์ติดตั้งโดรนที่มีน้ำหนักเบาเพียง 450 กรัม สามารถบินได้ด้วยไฟฟ้าเพียง 23 วัตต์สมาร์ทเบิร์ดเป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกัน ทั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งมีน้ำหนักเบาและจุไฟฟ้าได้ดี รวมกับเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์ในการออกแบบรูปทรงเพื่อเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติให้ใกล้เคียงที่สุด

อีกหุ่นยนต์ต้นแบบที่ได้รับความสนใจ คือ “ไลกาโก” (Laikago) ของบริษัท “ยูนิทรี โรโบติกส์” (Unitree Robotics) ของจีน เป็น “หุ่นยนต์สุนัข” สามารถพับเก็บเป็นกระเป๋าเดินทางได้ โดยมีน้ำหนักเพียง 22 กิโลกรัม ทั้งนี้ ไลกาโกเป็นต้นแบบของการพัฒนาการทรงตัวของหุ่นยนต์ให้มีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวในหลายสภาพภูมิประเทศ รวมถึงความสามารถในการหยิบจับสิ่งของ

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงหุ่นยนต์ปลา และแมงกะพรุนที่สามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ในน้ำ และหุ่นยนต์ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของนิ้วมือมนุษย์ ในการหยิบจับสิ่งของหรือเล่นเปียโนได้ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นจำนวนมาก