นักวิเคราะห์เปิด 3 เหตุผล จีนจะไม่ใช้กำลังบุก “ฮ่องกง”

REUTERS/Tyrone Siu
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

สัปดาห์ที่ผ่านมา เข้าสัปดาห์ที่ 11 แห่งการประท้วงของชาวฮ่องกงเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับจีนที่รัฐบาลฮ่องกงเตรียมจะผ่านสภาออกมาบังคับใช้ ซึ่งการประท้วงบานปลายไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นผู้ประท้วงบุกยึดสนามบินฮ่องกงตอบโต้ ทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เคลื่อนไหวคล้ายจะข่มขวัญด้วยการจัดซ้อมปราบจลาจลของตำรวจกว่า 1 หมื่นนายที่เมืองเสิ่นเจิ้น ซึ่งอยู่ใกล้กับฮ่องกง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวผนวกเข้ากับถ้อยแถลงของทางการจีน ที่ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนรักษาความสงบหากได้รับการร้องขอจากรัฐบาลฮ่องกง ทำให้หลายคนตีความว่าจีนอาจใช้กำลังเข้าจัดการผู้ประท้วง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ เดวิด ด็อดเวลล์ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มศึกษานโยบายการค้าฮ่องกง-เอเปก เห็นว่ามีเหตุผลสำคัญ 3 ประการที่เชื่อว่าจีนจะไม่กล้าใช้กำลังเข้าไปจัดการผู้ประท้วงฮ่องกง หรือหากจะใช้ก็ต้องคิดหนักและนาน

ประการแรก บทเรียนจากเหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” เมื่อปี 1989 ที่มีการปราบปรามนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความด่างพร้อยให้กับจีนในเวทีโลก

ประการที่สอง รัฐบาลจีนตระหนักอย่างเต็มที่ว่า จีนต้องการให้ฮ่องกงดำเนินไปด้วยดี มีผลประกอบการดี และหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จำต้องได้รับการพิทักษ์ปกป้อง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของฮ่องกงเท่านั้น แต่เพื่อจีนด้วยเนื่องจากต้องอาศัยฮ่องกงเป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับโลกภายนอกอย่างขาดไม่ได้ โดยเฉพาะโลกเสรีประชาธิปไตย เมื่อใดก็ตามที่บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการซื้อกิจการต่างประเทศหรือนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการระดมทุนสกุลเงินต่างประเทศ พวกเขาก็ต้องหันไปพึ่งพามืออาชีพชาวฮ่องกง

ปัจจุบันนี้แม้จีนจะมีนักบัญชี นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญตลาดทุนที่เยี่ยมยอด แต่เมื่อต้องการก้าวออกไปทำธุรกิจนอกประเทศ มีเพียงมืออาชีพในฮ่องกงเท่านั้นที่สามารถบริหารจัดการให้บริษัทจีนเชื่อมต่อกับตลาดโลกได้ ดังนั้น หากจีนส่งกองกำลังเข้าไปกระทืบฮ่องกง จะทำให้เศรษฐกิจจีนแย่ไปด้วย อีกทั้งจะกระทบต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ทะเยอทะยานของจีนอีกด้วย

ประการที่ 3 ซึ่งอาจเป็นประการสำคัญที่สุดก็คือ ในห้วงที่จีนต้องการแสดงบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก ฮ่องกงเป็นบทพิสูจน์พันธสัญญาของจีนในการเล่นบทบาทสร้างสรรค์ในเศรษฐกิจโลกที่มีตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ช่วยให้คนทั่วโลกหลายร้อยล้านคนรวมทั้งจีนพ้นจากความยากจนนับตั้งแต่ปี 1950

ฮ่องกงเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นความตั้งใจจริงจังของจีนในการเข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาสถาบันหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก องค์การการค้าโลกหากจีนทำลายความไว้วางใจของนานาชาติที่มีต่อหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จึงไม่เพียงแค่ทำลายฮ่องกง แต่ทำลายความน่าเชื่อถือของจีนที่อ้างว่าอยากจะมีบทบาทสร้างสรรค์ในเศรษฐกิจโลกอีกทั้งยังอาจจะทำลายความหวังที่จะได้ไต้หวันกลับคืนมาอย่างสันติไปตลอดกาล

เดวิด ด็อดเวลล์ ระบุอีกว่า ฮ่องกงจำเป็นต้องระลึกไว้เสมอว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาบรรดาผู้นำจีนพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านการทดลองขนาดเล็กหลายพันโครงการ การทดลองที่ประสบความสำเร็จจะถูกปล่อยให้เติบโตและก๊อบปี้ไปใช้ ส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จจะถูกปล่อยให้หายไปอย่างเงียบ ๆ และถูกลืมกรณีของฮ่องกงเป็นหนึ่งในการทดลองที่ประสบความสำเร็จที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่จีนไม่สามารถขาดได้เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจีน


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กำลังทำให้ฮ่องกงซึ่งเป็นหนึ่งในการทดลองที่ประสบความสำเร็จของจีนตกอยู่ในอันตราย จีนมีแนวโน้มจะปกป้องการทดลองนี้อย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ ด็อดเวลล์ได้เตือนว่าหากพวกเราในฮ่องกงไม่ต้องการให้จีนใช้กำลัง เราต้องโน้มน้าวบรรดาผู้ประท้วงไม่ให้ใช้ความรุนแรงซึ่งทำลายเศรษฐกิจฮ่องกงโดยเจตนา