“ขาลง” สายการบิน ตอ.กลาง ดิ้นปรับกลยุทธ์-ควบรวมฝ่าวิกฤต

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สายการบินแห่งซีกโลกตะวันออกกลางอย่าง “เอมิเรตส์” “เอทิฮัด” และ “กาตาร์” ต่างได้ประโยชน์มหาศาลจากข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของการเป็นประเทศแห่ง “อ่าว” ที่เป็นพื้นที่ “ซูเปอร์คอนเน็กเตอร์” สำหรับการบินข้ามโลก ทั้ง 3 สายการบินยักษ์ทำหน้าที่เชื่อมโยง 2 ซีกโลก ส่งผลให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมากวาดรายได้มหาศาล จากตัวเลขนักเดินทางที่เพิ่มขึ้น 4 เท่าทุกปี

แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีสัญญาณว่า 3 สายการบินทรงอิทธิพลกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะธุรกิจสายการบินแข่งขันด้านราคากันอย่างหนักจากโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ขณะที่ทั้ง 3 สายการบินยังให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส ประกอบกับปัญหาราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอ่าว รวมไปถึงปัญหาก่อการร้ายทั่วโลก ตลอดจนคำสั่งแบนชาวมุสลิมของสหรัฐอเมริกา ทำให้ความต้องการในการเดินทางในภูมิภาคนี้ลดลงไปเรื่อย ๆ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ในช่วงปี 2016-2017 สายการบินเอมิเรตส์มีผลกำไรลดลง 82% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และจำนวนที่นั่งที่เดินทางจากดูไบเพิ่ม 2% เท่านั้น ขณะที่ช่วงปี 2012-2016 มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 11%

ขณะที่ “เอทิฮัด” สูญเสียรายได้กว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ไปลงทุนในสายการบินยุโรปอย่าง “แอร์เบอร์ลิน” และ “อาลิตาเลีย” ที่ประสบภาวะขาดทุน ขณะที่ปีนี้จำนวนนักเดินทางจากอาบูดาบีเพิ่มขึ้นเพียง 3% เทียบกับปี 2012-2016 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 14.6%

สำหรับ “กาตาร์” ถือว่าเป็นสายการบินที่มีผลประกอบการโดดเด่นสุด โดยปีงบประมาณที่ผ่านมา (สิ้นสุด มี.ค. 2017) กาตาร์มีรายได้เพิ่มขึ้น 22% หรือ 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดในมีนาคมปีหน้า อาจเป็นปีที่สถานการณ์หนักสุด เนื่องจากขณะนี้ประเทศกาตาร์โดนคว่ำบาตรทั้งการทูต เศรษฐกิจ การบิน นำโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากข้อกล่าวหาที่ว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนก่อการร้าย ส่งผลให้สายการบินกาตาร์ต้องยกเลิก 18 ปลายทางทั้งในอียิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ คิดเป็น 1 ใน 5 ของที่นั่งทั้งหมด

นอกจากนี้ปัจจุบันมีสายการบินต้นทุนต่ำที่เริ่มบินระยะไกลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “นอวีเจี้ยน แอร์ไลน์ ชัตเติล” หรือ”สกู๊ต” ที่บินเส้นทางเดียวกับที่สายการบินตะวันออกกลาง ทั้งเส้นทางระหว่างยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย

การควบรวมกิจการจึงถือเป็นหนึ่งทางออกเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ล่าสุด “เอมิเรตส์” ควบรวมกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในเครืออย่าง “ฟายดูไบ” โดยใช้ระบบปฏิบัติการร่วมกัน ณ ฮับดูไบ เพื่อลดต้นทุน “เซอร์ทิม คลากส์” ประธานและผู้ก่อตั้งเอมิเรตส์ มองแง่บวกว่า ปีนี้อาจจะยากลำบาก จากสถานการณ์ก่อการร้ายทั่วโลกและนโยบายของสหรัฐ แต่เดี๋ยวก็ผ่านไป เพราะตลอด 32 ปีที่ผ่านมาเอมิเรตส์ไม่เคยเกิดปัญหาหนักหนาอะไรที่ไม่สามารถจัดการได้ ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า “เอมิเรตส์” จะควบรวมกิจการกับ “เอทิฮัด” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ทั้งเอมิเรตส์และเอทิฮัด ซึ่งก่อนหน้านี้เน้นให้บริการฟูลเซอร์วิส ก็เริ่มหันมา “เก็บค่าบริการ” บางส่วน โดยเฉพาะในส่วนของชั้นที่นั่งอีโคโนมี

เช่นกรณีสายการบินเอมิเรตส์เก็บค่าบริการจองที่นั่ง หรือเก็บค่าเข้าใช้บริการเลานจ์ในสนามบิน ขณะที่เอทิฮัดเตรียมเก็บค่าบริการคนขับรถสำหรับผู้โดยสารชั้น 1 และชั้นธุรกิจ จากเดิมฟรี

เรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวครั้งสำคัญของสายการบินยักษ์ใหญ่ของตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านการบิน “แอนดรูว์ ชาร์ลตัน” จากเจนีวา ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ถึงขนาดจะเรียกได้ว่าตกต่ำ เพราะทั้ง 3 สายการบินยังมีรายได้ที่แข็งแกร่ง สิ่งที่ต้องทำคือปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ขณะที่รัฐบาลประเทศตะวันออกกลางที่กำลังเล็งหารายได้เพิ่มจากการขนส่งและการท่องเที่ยว เพื่อมาทดแทนรายได้ที่หดหายไปจากราคาน้ำมันตกต่ำ