5 เทคโนโลยี (ใหม่) เปลี่ยนโลก

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวก แต่ยังช่วยแก้ปัญหาอีกหลายด้านตั้งแต่สุขภาพไปจนถึงสิ่งแวดล้อม รายงานของ “เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม” ได้นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคตอันใกล้นี้เป็น Top 10 Emerging Technology for 2019 ซึ่งประชาชาติธุรกิจขอหยิบมานำเสนอ 5 เทคโนโลยี

ไบโอพลาสติก 

จากปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียง 15% ที่ได้รับการนำมารีไซเคิล ทำให้ปัจจุบันโลกกำลังสนใจกับเทคโนโลยี “ไบโอพลาสติก” ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ในเวลาไม่นาน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยปัจจุบันมีการผลิตไบโอพลาสติกจากข้าวโพด อ้อย หรือไขมัน แต่ยังขาดความแข็งแรงคงทน

จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอพลาสติกจาก “เซลลูโลส” หรือลิกนินซึ่งเป็นเส้นใยที่มีอยู่ในพืชหรือเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งทำให้ได้พลาสติกชีวภาพที่มีความคงทนกว่าและยังย่อยสลายได้ง่าย โดยปัจจุบันหลายบริษัททุ่มทุนวิจัยและผลิตไบโอพลาสติกด้วยต้นทุนต่ำอย่าง “โมเบียส”(Mobius) ในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเม็ดพลาสติกจากลิกนิน สำหรับอุปกรณ์ทางการเกษตร อย่างเช่น กระถางต้นไม้ ขณะที่ “เมตเจนออยล์” (MetGen Oy) ของฟินแลนด์ ก็ได้พัฒนาไบโอพลาสติกสำหรับใช้งานหลากหลายประเภท

หุ่นยนต์เพื่อสังคม

หุ่นยนต์เป็นอีกเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์ แม้ว่าในปัจจุบันหุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยความสามารถในการตอบสนองต่อมนุษย์ทั้งกายภาพและทางด้านอารมณ์ได้เสมือนจริง

ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ทำให้ระบบการประมวลผลที่ได้จากกล้องและเซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์ทำงานได้อย่างซับซ้อนขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงระบบประมวลผลเข้ากับข้อมูลด้านจิตวิทยาและระบบประสาทของมนุษย์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถวิเคราะห์อารมณ์ของมนุษย์ได้และตอบสนองได้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น “เปปเปอร์”(Pepper) หุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์สูง 47 นิ้ว ของบริษัทซอฟต์แบงก์โรโบติกส์ซึ่งสามารถจำจดใบหน้าและวิเคราะห์อารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีการนำหุ่นยนต์เปปเปอร์ราว 15,000 ตัว ไปใช้ในงานบริการ เช่น เช็กอินในโรงแรม และสนามบิน รวมถึงชำระเงินในศูนย์การค้า

ความก้าวหน้าของหุ่นยนต์ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในสังคมสูงอายุ เช่น “พาโร” หุ่นยนต์รูปร่างเหมือนแมวน้ำ ของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงของญี่ปุ่น เพื่อบำบัดอาการอัลไซเมอร์และลดความเครียดในผู้สูงอายุ เป็นต้น

เลนส์ขนาดจิ๋ว

ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ทำให้ “เลนส์ขนาดจิ๋ว” มีความจำเป็นมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีการพัฒนา “เมทัลเลนส์” (metalenses) ท่ี่มีความเล็กจิ๋วและความบางโดยสร้างจากวัตถุระดับนาโน และความสามารถในการกระจายความเข้มของแสงที่ตกกระทบ ช่วยให้สามารถผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กลงมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากเมทัลเลนส์สามารถผลิตได้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง และกูเกิล ที่เริ่มลงทุนในการวิจัยเพื่อผลิต “เมทัลเลนส์” เพื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

ยายับยั้งเซลล์ผิดปกติ

สาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งไปจนถึงโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เกิดจากความผิดปกติของโปรตีนภายในร่างกาย (ไอดีพีเอส) ที่เป็นส่วนหนึ่งของกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถจัดการกับความเจ็บป่วยนั้นได้ เนื่องจากโปรตีนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองใช้ชุดชีวฟิสิกส์ เพื่อยับยั้งการเติบโตของโปรตีนผิดปกติโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคร้ายแบบที่เจาะจงไปที่เซลล์ร้ายเท่านั้น

โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พัฒนาตัวยาดังกล่าว เช่น “ไอดีพีฟาร์มา” (IDP Pharma) บริษัทผู้ผลิตยาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ที่กำลังพัฒนาสารยับยั้งความผิดปกติของโปรตีน อันเป็นสาเหตุของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเซลล์มะเร็งปอด เป็นต้น

ปุ๋ยอัจฉริยะ

“ปุ๋ย” สารอาหารของพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่พืชกลับดูดซึมสารอาหารจากปุ๋ยได้น้อย เพราะทำปฏิกิริยากับน้ำเร็วเกินไป และส่วนที่เหลือก็กลายเป็นมลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีใหม่ของปุ๋ยเพื่อทำให้สารอาหารไปถึงพืชมากขึ้น และลดการปล่อยมลพิษด้วยการบรรจุปุ๋ยไว้ในแคปซูลเพื่อให้ทำปฏิกิริยากับน้ำน้อยลง และพืชจะค่อย ๆ ดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น ทั้งยังมีเทคโนโลยีช่วยให้เกษตรกรสามารถเปลี่ยนความเร็วของการย่อยสลายของแคปซูลให้เหมาะสมต่อพืชแต่ละชนิดได้ โดยผู้ผลิตปุ๋ยหลายรายอย่าง “ไฮฟากรุ๊ป” (Haifa Group) และ “ไอซีเอลสเปเชียลิตี้” (ICL Speciality) เริ่มผลิตปุ๋ยดังกล่าวออกมาจำหน่าย

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีเอไอ และระบบเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยตรวจสอบปริมาณการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม