“ไทย” แหล่งลงทุนระยะยาว ธุรกิจหลบพิษ “เทรดวอร์”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

สงครามการค้าที่ยังไม่มีการพักรบระหว่างสหรัฐและจีน แถมแนวโน้มเลวร้ายลง ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มจริงจังมากขึ้นในการมองหาสถานที่ลงทุนใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงพิษสงครามการค้า ดังที่เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของ อเล็กซานเดอร์ เฟลด์แมน ซีอีโอของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีของอเมริกา เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม ว่า สงครามการค้าทำให้บรรดานักลงทุนเตรียมย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่กำลังถูกนักลงทุนหมายตาให้เป็นทางเลือกแทนประเทศจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสหรัฐเก็บภาษี โดยขณะนี้มีบริษัทที่มีชื่อเสียง 3 ราย กำลังเคลื่อนย้ายแผนกต่าง ๆ จากจีนมายังไทย

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวไม่ได้เปิดเผยรายชื่อบริษัทเหล่านั้นเฟลด์แมนระบุว่า การเคลื่อนย้ายการลงทุนมาไทยเป็นแนวโน้มระยะยาว มูลค่าการลงทุนตั้งแต่หลายสิบล้านดอลลาร์ ไปจนถึงหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพราะเวียดนามซึ่งเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุดจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ กำลังมีปัญหาแรงงานเริ่มตึงตัว นักลงทุนจึงต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่

ซีอีโอของสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียนบอกด้วยว่า อันที่จริงบริษัทสหรัฐบางราย เช่น มอเตอร์ไซค์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ได้เริ่มย้ายฐานผลิตมาไทยในปี 2017 ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนด้วยซ้ำไป และผลลัพธ์ก็ออกมาคุ้มค่า เพราะมียอดขายในมาเลเซียเพิ่มขึ้น 181% โดยที่รถเหล่านี้ผลิตจากประเทศไทย ส่วนไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ยอดขายฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดเติบโต 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าในประเทศไทย

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะเพิ่มภาษีจาก 25% เป็น 30% สำหรับสินค้าจีนลอตแรก 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์ มีผลวันที่ 1 ตุลาคม และปรับขึ้นจาก 10% เป็น 15% สำหรับลอตที่เหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์ มีผล 2 ช่วง คือ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม เพื่อตอบโต้ที่จีนประกาศจะเพิ่มภาษีสินค้าจากสหรัฐ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในอัตรา 5-10% และจะกลับมาเก็บภาษีรถยนต์ที่เคยระงับการจัดเก็บไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

นับจากสหรัฐเปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจากจีน สหรัฐกำหนดว่าเมื่อใดก็ตามที่สหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจากจีนไปแล้ว ห้ามจีนตอบโต้ หากตอบโต้ สหรัฐก็จะขยับภาษีนำเข้าขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาจีนไม่โอนอ่อน แต่ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐทุกครั้ง จึงทำให้อัตราภาษีที่สองฝ่ายนำมาตอบโต้กันขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ

รอบนี้ทรัมป์ได้ออกมาขอให้บริษัทอเมริกันย้ายออกจากจีนโดยทันที พร้อมกับขู่ว่าหากจำเป็น ตนก็มีอำนาจจะประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อจัดการปัญหาการค้ากับจีน อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าเป็นไปได้แค่ไหนที่ทรัมป์จะบังคับให้บริษัทอเมริกันย้ายออกจากจีน เพราะหากจะบังคับจริง ทรัมป์ก็ต้องต่อสู้กับบรรดาบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในจีนอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่มีความตั้งใจใด ๆ ที่จะละทิ้งตลาดที่มีมูลค่าใหญ่ 14 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างจีน

หากทรัมป์บังคับสำเร็จจริง บริษัทขนาดใหญ่ที่จะสูญเสียมากที่สุด ประกอบด้วย 1.วอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเปิดสวนสนุกในเซี่ยงไฮ้ไปเมื่อปี 2016 โดยร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่น และกิจการกำลังเติบโต 2.แคตเตอร์พิลลาร์ อิงก์ ซึ่งมีโรงงานทั่วประเทศจีน 3.ไนกี้ อิงก์ รายนี้ถึงแม้จะกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานไปยังแหล่งอื่น แต่ก็ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบหลายอย่างจากจีน ในการผลิตสินค้า 4.แอปเปิล อิงก์ แม้โทรศัพท์ไอโฟนส่วนใหญ่ของบริษัทนี้จะออกแบบและวางขายในสหรัฐ แต่ต้องส่งไปประกอบในจีน และนำเข้ามาอีกทอดหนึ่ง 5.สตาร์บัคส์ กิจการนี้อยู่ในจีนมาแล้ว 20 ปี หากต้องทิ้งจีน บริษัทจะลำบากแน่ในสภาวะที่ตลาดสหรัฐอิ่มตัวไปแล้ว 6.เทสลา อิงก์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 7.เครื่องบินโบอิ้ง ในระยะ 20 ปีข้างหน้า จีนต้องการเครื่องบิน 7,690 ลำ

มูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หากต้องทิ้งจีน ก็จะเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างแอร์บัสของฝรั่งเศส