นับถอยหลัง 4 เดือนสุดท้าย ระเบิดเวลา…เศรษฐกิจโลก

นับถอยหลัง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2019 อาจเรียกว่าเป็นการเดินเข้าสู่ โซนอันตรายของเศรษฐกิจโลกที่มีระเบิดเวลารออยู่หลายลูก

เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเริ่มมาตรการกีดกันทางการค้าของ “สหรัฐและจีน” รอบใหม่ โดยฝั่งสหรัฐได้ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนวงเงิน 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตรา 15% จากเดิม 10% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ และวันที่ 15 ธ.ค. สหรัฐจะปรับขึ้นภาษีนำเข้า 15% สินค้าจีนอีกลอตวงเงินราว 1.8 แสนล้านเหรียญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสมาร์ทโฟน

ขณะที่ทางการจีนก็ได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตรา 5-10% มูลค่ารวม 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยสินค้าหลัก ๆ เช่น น้ำมันดิบ, สินค้าเกษตร, ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ “น้ำมัน” ได้กลายเป็นเป้าหมายของสงครามการค้า ขณะเดียวกัน ทางการจีนเองก็ได้เตรียมเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐเพิ่มในลอตที่ 2 ราว 3,000 รายการ ในวันที่ 15 ธ.ค.เช่นกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะเก็บภาษีในอัตราที่ 10%

นอกจากนี้ ล่าสุด ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้ประกาศว่าขยับขึ้นภาษีอีกรอบสำหรับสินค้าจีนวงเงิน 250,000 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีการปรับขึ้นภาษีไปเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 25% เป็น 30% ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับภาคธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจของสหรัฐเอง เพียงไม่กี่วันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้อัตราภาษีใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. บริษัทผู้ผลิตรองเท้าสัญชาติอเมริกันกว่า 200 ราย ซึ่งรวมถึงแบรนด์รองเท้ารายใหญ่ อย่าง Nike, Adidas และ Foot Locker ได้รวมตัวกันเขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อขอให้ยกเลิกแผนการที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนจาก 10% เป็น 15%

โดยผู้ประกอบการให้เหตุผลว่า นโยบายเรื่องภาษีต่าง ๆ กำลังส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ไปจนถึงราคาจำหน่าย ซึ่งการเสียภาษีสูงถึง 15% จะทำให้ราคารองเท้าพุ่งสูงขึ้นถึง 11-67%

อีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสสุดท้าย คือ ความไม่แน่นอนของ “เบร็กซิต” ซึ่งขณะนี้นักวิเคราะห์ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ สหราชอาณาจักร (ยูเค) จะถอนตัวจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) “แบบไร้ข้อตกลง” อย่างแน่นอน หลังจากที่นายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” แห่งอังกฤษ ประกาศเลื่อนกำหนดเปิดการประชุมสภาครั้งถัดไป เป็นวันที่ 14 ต.ค. จากกำหนดการเดิมวันที่ 6 ก.ย.นี้ เพื่อปิดโอกาสไม่ให้สภาอังกฤษ สามารถเจรจาและบรรลุมาตรการต่าง ๆ ได้ก่อนเวลา

โดยนายวอลดิส ดอมบรอฟสกี ประธานคณะกรรมาธิการ ฝ่ายบริการการเงินของอียู กล่าวว่า โนดีลเบร็กซิต ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกยูเค โดยเฉพาะ “อังกฤษ” แต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของอียูด้วย ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าวก็ทำให้ช่วงที่ผ่านเงินปอนด์อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มีคาดการณ์ด้วยว่า “โนดีลเบร็กซิต” นอกจากจะกระทบต่อการจ้างงานในอังกฤษ ยังจะส่งผลต่อการจ้างงานในอีกหลายประเทศในอียู เช่น “เยอรมนี” เนื่องจากสินค้าหลายประเภทที่ส่งออกไปยังอังกฤษจะลดลงเพราะความขัดแย้งนี้

นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของ “อาร์เจนตินา” ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนเศรษฐกิจโลกให้ผันผวนมากขึ้น จากสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ราว 7 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลอาร์เจนตินาต้องยืดการชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ เนื่องจากขาดสภาพคล่องระยะสั้นอย่างรุนแรง เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศยังลดลง หลังจากที่ธนาคารกลางนำไปใช้เพื่ออุ้มค่าเงินเปโซไม่ให้อ่อนค่าลงไปอีก ทำให้ล่าสุดสถาบันจัดอันดับ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอาร์เจนตินาจากเดิมอยู่ที่ CCC- มาเป็นระดับต่ำสุดของ Junk Bond

ในฝั่งของเอเชีย ปัญหาความรุนแรงของการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 13 สัปดาห์ จากชนวนเหตุ“ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ได้สร้างความระส่ำระสายให้กับเศรษฐกิจของจีนด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย เพราะจีนจำเป็นต้องพึ่งพาฮ่องกงเพื่อเป็นประตูในการติดต่อทำธุรกิจกับโลกตะวันตก โดยเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บทบรรณาธิการที่เผยแพร่ในสำนักข่าว “ซินหัว” สื่อของทางการจีน ได้กล่าวเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “หากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงยังฝ่าฝืนและรุกล้ำข้อบังคับต่าง ๆ และประพฤติทำลายกรอบการปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบ จะต้องพบกับจุดจบเร็ว ๆ นี้”

หลายฝ่ายมองว่า คำเตือนจากบทบรรณาธิการนี้เปรียบเสมือนเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ซึ่งมีรายงานว่า เป็นไปได้ว่าทางการปักกิ่งอาจจะเข้าแทรกแซงเพื่อควบคุมสถานการณ์ในฮ่องกงในวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งตรงกับวันชาติจีน ซึ่งจะยิ่งเติมเชื้อไฟและสร้างความปั่นป่วนให้รุนแรงมากขึ้น

แม้ว่าล่าสุด(4ก.ย.)นางแคร์รี ลัม ผู้นำสูงสุดเกาะฮ่องกงได้ประกาศถอดถอนร่างกฏหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์มองว่า แรงจูงใจในการประท้วงในฮ่องกงขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องตัวร่างกฎหมายฯ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้นางแคร์รี ลัม ลงจากตำแหน่งเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเป็นไปได้ว่าการประท้วงอาจจะไม่สามารถจบได้เร็วๆ นี้

นี่คือระเบิดเวลาของเศรษฐกิจโลกที่รออยู่ในช่วงปลายปีนี้ 


คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่...“แคร์รี ลัม” ประกาศถอดร่างกฎหมายฯ ชนวนเหตุประท้วงนาน 3 เดือน