“เสิ่นเจิ้น” ในมุมนักธุรกิจ ยากที่จะแทน “ฮ่องกง”

เหตุการณ์ประท้วง “กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ในฮ่องกง ที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลจีนได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเงินของโลกแห่งนี้ต้องประสบภาวะชะงักงัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศเตรียมพัฒนาเมือง “เสิ่นเจิ้น” เป็นเมืองต้นแบบเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก เพื่อลดการพึ่งพาฮ่องกงในการทำธุรกิจร่วมกับชาติตะวันตก

แต่ในสายตาของนักธุรกิจกลับมองว่า นโยบายใหม่ของจีนที่จะสร้างเสิ่นเจิ้นขึ้นมาแทนที่ฮ่องกงกลับ “ประสบความสำเร็จได้ยาก”

แม้ว่าปัจจุบัน เสิ่นเจิ้นจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่จีนมีนโยบายสนับสนุนเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจในแบบเดียวกันกับ “ซิลิคอนวัลเลย์” ของสหรัฐอเมริกา โดยปีที่ผ่านมา จีดีพีของเสิ่นเจิ้นเติบโตถึง 7.6% แซงหน้าจีดีพีของฮ่องกงที่โตเพียง 3%

ปัจจุบันเสิ่นเจิ้นเป็น 1 ใน 18 เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน และเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ระดับโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “DJI” บริษัทผู้ผลิตโดรนเพื่อการพาณิชย์ใหญ่ที่สุดในโลก “เทนเซ็นต์” บริษัทเกมรายใหญ่สุดของโลก และ “หัวเว่ย” ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่

หลังเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่กินเวลายาวนานถึง 13 สัปดาห์ ทำให้จีนหันมาประกาศพัฒนาเสิ่นเจิ้นให้เป็นเมืองต้นแบบทางเศรษฐกิจตามแนวทาง “สังคมนิยมแบบจีน” ทั้งยังได้ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจอ่าว ด้วยแผนการปฏิรูปเสิ่นเจิ้น ทั้งในด้านกฎหมาย การเงิน ระบบสาธารณสุข และด้านสังคม

อย่างไรก็ตาม “วอเตอร์ เฉิง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก บริษัทหลักทรัพย์ “สตอร์ม ฮาร์เบอร์ ซีเคียวริตีส์” (Storm Harbour Securities) ที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก ระบุว่า จะอย่างไรก็ตามจีนก็ไม่มีทางเลือกและยังคงต้องพึ่งพาฮ่องกงเป็นประตูสู่โลกตะวันตก

ความพยายามสร้างเสิ่นเจิ้นขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของธุรกิจนานาชาติยังคงเป็นที่กังขาของภาคธุรกิจ เนื่องจากกังวลว่า การทำธุรกิจในเสิ่นเจิ้นจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนหรือไม่

ผลกระทบจากการประท้วงแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจเอกชนกำลังถูกกดดันอย่างหนักท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมที่รุนแรงขึ้น อย่างกรณีสายการบิน “คาเธ่ย์แปซิฟิค” ที่ถูกกดดันให้ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของการบินพลเรือนแห่งชาติจีน ด้วยการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งหมด ขณะที่ซีอีโอคนเก่าได้ประกาศลาออกในท้ายที่สุด

“การบังคับให้ภาคธุรกิจเปิดเผยจุดยืนทางการเมืองเพื่อแสดงความจงรักภักดี ผมคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ดี และถ้าสภาพแวดล้อมยังคงเป็นเช่นนี้ ทุกคนต้องประกาศจุดยืนทางการเมืองของตน นั่นจะทำให้บริษัทข้ามชาติไม่เห็นด้วย”

เฉิงระบุด้วยว่า แม้บริษัทที่มีธุรกิจอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่จะยังคงอยู่ต่อไป แต่สภาวะดังกล่าวจะทำให้บริษัทข้ามชาติตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังที่อื่นอย่างสิงคโปร์ แทนที่จะย้ายมายังเสิ่นเจิ้นอย่างที่รัฐบาลจีนคาดหวัง

นอกจากนี้ เสิ่นเจิ้นยังเป็นไปได้ยากมากที่จะแทนที่ฮ่องกงในฐานะฮับทางการเงิน เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงถูกผูกกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่าเงินหยวนที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐบาลจีน ทำให้นักลงทุนมั่นใจในการทำธุรกิจในฮ่องกงมากกว่า

“ในเชิงเทคนิค จีนสามารถสร้างเสิ่นเจิ้นให้เหมือนฮ่องกงได้ไม่ยาก ด้วยการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ รวมถึงให้เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล แต่ฮ่องกงยังคงมีคุณสมบัติที่สามารถปรับตัวได้และมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ มากกว่า ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจแข่งขันได้ในตลาดโลก อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากจีนแผ่นดินใหญ่” เฉิงกล่าว


ทั้งนี้ นายเฉิงยังมองว่า แม้ฮ่องกงจะไม่สามารถแซงหน้าเสิ่นเจิ้นในภาคเทคโนโลยีได้ แต่ฮ่องกงยังมีภาคอุตสาหกรรม การเงิน และการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้นทางออกที่ดีจึงควรเป็นการสร้างเสิ่นเจิ้นให้เป็นเมืองนานาชาติอีกแห่งหนึ่งควบคู่ไปกับฮ่องกง