นายกฯ เยอรมนีเยือนปักกิ่ง โลกจับตาท่าทีต่อสิทธิมนุษยชนในจีน

(Andrea Verdelli/Pool via REUTERS)

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งของจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 6-7 ก.ย.นี้ โดยนายกรัฐมนตรี “หลี่ เค่อเฉียง” ของจีนเป็นผู้ให้การต้อนรับ นับเป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งที่ 12 ของแมร์เคิล หลังจากที่เธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมันในปี 2005

ทั้งนี้ นายกฯ แมร์เคิล ได้นำคณะผู้แทนนักธุรกิจเยอรมัน เพื่อเจรจาสำหรับเปิดโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจกับจีน สำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า นับเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เยอรมนีและจีนจะต้องร่วมกันปกป้องระบบเศรษฐกิจของโลก ส่วน “ซีจีทีเอ็น” ระบุว่า แมร์เคิลอาจเข้าพบประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีนระหว่างการเดินทางเยือนปักกิ่งครั้งนี้ แต่ยังคงไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน

ทั้งนี้ จีนเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยยอดการนำเข้าสินค้าเยอรมันของจีนสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ของทางการจีนระบุว่า รัฐบาลจีนจะใช้โอกาสนี้ในการเน้นย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดใน “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน “ปักกิ่งและเบอร์ลินเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนความแตกต่างให้เป็นแรงเสริม แทนที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการปะทะกัน”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางเยือนจีนของแมร์เคิลในครั้งนี้ยังถูกจับตาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั่วโลก ที่แสดงความกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน ทั้งสถานการณ์การกักตัว “ชาวอุยกูร์” ในสถานกักกันขนาดใหญ่ในพื้นที่ตะวันตกของซินเจียง โดย “สภาอุยกูร์โลก” (World Uyghur Congress) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงแมร์เคิล เพื่อเรียกร้องให้เธอช่วยร้องขอให้มีการปล่อยตัวชาวอุยกูร์หลายแสนคน ที่พวกเขาเชื่อว่าถูกกักตัวไว้โดยทางการจีน

ขณะที่ “โจชัว หว่อง” นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยใน “ฮ่องกง” ก็ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงแมร์เคิล ก่อนหน้าที่เธอจะเดินทางมาเยือนจีนด้วยเช่นกัน โดยขอร้องให้แมร์เคิล “แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่น่ากลัวของเรา และช่วยผลักดันข้อเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลจีน”

ทั้งนี้ แมร์เคิลได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่งว่า สิทธิพลเมืองของฮ่องกง “ต้องได้รับการเคารพ” และ “ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายจะต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงและวิธีการแก้ปัญหาต้องทำด้วยวิถีทางการเมือง นั่นก็คือการหันมาเจรจากัน”