เบร็กซิต เมื่อมองจากมุม “อียู”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เหตุอลหม่านชุลมุนทางการเมืองในอังกฤษชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้บ่อยครั้งที่เรามักลืมเลือนกันไปว่า “เบร็กซิต” เป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย ไม่ได้ชี้ขาดกันอยู่ที่เพียงแค่อังกฤษด้านเดียวเท่านั้น

เมื่อถึงตอนที่การดำเนินการฝ่ายอังกฤษตีบตันอยู่ อย่างเช่นในเวลานี้ที่จะเบร็กซิตก็ไม่ได้ จะเลือกตั้งใหม่ก็ยังไม่เป็นอันตกลงกัน ทำให้บังเกิดคำถามขึ้นมาว่า ตอนนี้ในบรรดาผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายทั้งหลายในสหภาพยุโรป (อียู) ที่เหลือมีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ของคู่กรณีอย่างอังกฤษในยามนี้ว่าอย่างไร ?

ไซมอน คูเปอร์ คอลัมนิสต์แห่งไฟแนนเชียล ไทมส์ สรุปความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา

ถ้าจะสรุปความแบบภาษาชาวบ้านให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ บรรดาผู้นำอียูทั้งหลายกำลังเบื่อ เซ็ง เต็มทีกับสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ในประเทศอังกฤษ

ผลจากอาการเอือมระอาและหมดความอดทนกับสถานการณ์ที่ว่านั้น ทั้งหมดเลยเห็นพ้องในจุดยืนเดียวกันอย่างไม่คาดหมายนั่นคือ อียู จะไม่มีวันยอมตามคำเรียกร้องของบอริส จอห์นสัน ให้เจรจาเงื่อนไขเบร็กซิตเสียใหม่อีกแล้ว

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้ฝ่ายต่อต้านการเบร็กซิตโดยไม่มีข้อตกลง หรือโนดีลเบร็กซิตมาทำให้กำหนดการพ้นสภาพสมาชิกอียูของอังกฤษต้องเลื่อนช้าออกไปอีกเช่นกัน

รวมความง่าย ๆ ก็คือ อียูอยากให้อังกฤษพ้นจากสมาชิกไปเต็มแก่แล้ว ยิ่งเร็วได้เท่าใดยิ่งดีเท่านั้น

คูเปอร์ บอกว่า แอนน์ มุลเดอร์ ผู้แทนพิเศษของรัฐสภาเนเธอร์แลนด์ พูดเรื่องนี้ออกมาแทนอียูทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เมื่อบอกว่า “เราคิดว่าคนอังกฤษจะมีเหตุมีผล แต่ไม่ยักใช่อย่างนั้น”

ในทางเปิดเผย อียูจะยังคงท่าทีเป็นมิตรและพร้อมจะเจรจา แต่เบื้องหลังท่าทีสุภาพดังกล่าวก็คือ ความไม่ไว้วางใจถึงที่สุดต่อจอห์นสัน พร้อม ๆ กับที่สิ้นหวังกับ เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายค้านที่ถูกมองว่า เห็นแก่การเข้าไปนั่งในทำเนียบที่ดาวนิ่งสตรีต มากกว่าจะทุ่มเทเพื่อหาทางกำหนดนโยบายเบร็กซิตที่เป็นเหตุเป็นผล

หมดหวังแม้แต่กระทั่งกลุ่มต่อต้านเบร็กซิตที่มัวแต่ทะเลาะกันเองไม่หยุดหย่อน

แนวความคิดเรื่องนี้หนักแน่นถึงขนาดว่า แม้บอริส จอห์นสัน จะกลายเป็นผู้ชนะอีกครั้งในการประลองกำลังทางการเมืองในอังกฤษเวลานี้ โดยอาจเป็นผู้ชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่อาจมีขึ้น ทางอียูก็เลือกที่จะ “โนดีลเบร็กซิต” มากกว่าที่จะทำความตกลงตามความต้องการใด ๆ ของบอริส จอห์นสัน

ดักลาส เว็บเบอร์ นักวิชาการจากอินซีด บิสซิเนส สกูล ชี้เอาไว้ว่า สิ่งที่อียูให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจระยะสั้น ๆ จาก “โนดีลเบร็กซิต” อย่างที่ฝ่ายอังกฤษเข้าใจเอาว่าเป็นเช่นนั้น หากแต่เป็นการรักษาข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทั้งหลายของ “ตลาดร่วม” เอาไว้ ในเวลาเดียวกันก็ยืนหยัดอยู่เคียงข้างไอร์แลนด์อย่างเต็มที่

ไอร์แลนด์ยืนกรานในมาตรการที่ป้องกัน ที่เรียกกันว่า แบ็กสต็อป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งทางการเมืองในไอร์แลนด์เหนือขึ้นมาอีกครั้ง อียูยืนกรานไม่เจรจาใหม่อีกต่อไปแล้วในเรื่องนี้ เพราะว่านี่คือพันธกิจของการรวมตัวกันขึ้นมาเป็นอียู

อียูมองตัวเองว่านอกเหนือจากการรวมตัวกันเพื่อผลทางเศรษฐกิจแล้ว นี่คือการรวมตัวกันเพื่อสันติภาพ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับชาติรัฐขนาดเล็ก (รวมทั้งไอร์แลนด์) ที่รวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกอียูทั้งหมด แต่ละชาติล้วนมีประชากรไม่เกิน 10 ล้านคนทั้งสิ้น

ถ้าโดยลำพังของแต่ละชาติเหล่านั้นล้วนตกเป็นเบี้ยล่างให้กับชาติใหญ่ ๆ ได้ทั้งนั้นในทุกเรื่อง อย่างเช่นกรณีของเดนมาร์ก ที่วันดีคืนดีก็ถูก โดนัลด์ ทรัมป์ เปรยขึ้นมาว่า อยากซื้อเกาะกรีนแลนด์มาเป็นของสหรัฐ เป็นต้น

กรณีแบ็กสต็อปจึงไม่ใช่เป็นเรื่องไอร์แลนด์เพียงลำพัง แต่เป็นเรื่องของอียูทั้งหมดอีกด้วย

อียูใช้เวลาในการเตรียมการสำหรับเบร็กซิตมาตลอด 3 ปีเศษที่ผ่านมา เตรียมไว้ถึงขนาดในกรณีที่เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดขึ้นมา

ไม่เพียงแต่ทางการที่เตรียมการเท่านั้น แวดวงธุรกิจของอียูก็เตรียมการรับมืออยู่ตลอดมา บริษัทหลายแห่งเริ่มปรับเปลี่ยนแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบที่เดิมเคยซื้อหาจากอังกฤษไปเป็นจากภายในอียูด้วยกันเองแล้วด้วยซ้ำไป

มูลนิธิวิชาการอิสระอย่าง แบร์เทลสมันน์ สติฟตุง ในเยอรมนี เพิ่งเผยแพร่งานวิเคราะห์ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากกรณีโนดีลเบร็กซิตออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าจะเกิดความเสียหายไม่มากมายนักมูลค่าความเสียหายรวมทั้งหมดอาจดูมากมายถึง 40,000 ล้านยูโร แต่ถ้าเฉลี่ยออกไปแล้วก็แค่ราว 90 ยูโรต่อคนเท่านั้น ซึ่งบริหารจัดการได้ไม่ยาก

ประเทศที่จะเจอปัญหาหนักที่สุดก็คือ ไอร์แลนด์ แต่ไอร์แลนด์ก็คือประเทศที่ยืนกรานถึงที่สุดจะไม่เจรจาใหม่กันอีกต่อไปแล้ว

มองในแง่มุมเหล่านี้ สำหรับในมุมมองของอียู เบร็กซิตไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอดีตไปแล้วต่างหาก