“เอเชีย” พลังขับเคลื่อน ศก.โลก ไม่ต้องแคร์ “อเมริกาเป็นหวัด”

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งสหรัฐเป็นผู้เปิดฉากจุดสนใจทั่วโลกมุ่งไปยังสองประเทศยักษ์ใหญ่นี้ โดยเฉพาะอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกเบอร์ 1 ซึ่งในแต่ละวันนักลงทุนและผู้นำของทุกประเทศทั่วโลกต้องคอยเงี่ยหูฟังว่าวันนี้ประธานาธิบดีสหรัฐจะพูดหรือทวีตข้อความอะไร

หากทวีตหรือพูดในด้านบวกตลาดหุ้นก็จะพุ่งขึ้น หากทวีตในด้านลบหุ้นก็จะดิ่งลงรุนแรงเช่นกันจนมีโบรกเกอร์บางคนจดบันทึกเอาไว้ว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2016 วันไหนก็ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตมากกว่า 35 ครั้ง ตลาดจะให้ผลตอบแทนเป็นลบ แต่ถ้าวันไหนทวีตน้อยกว่า 5 ครั้งตลาดหุ้นจะบวก จึงแนะนำว่าหากท่านประธานาธิบดีอยากให้ตลาดหุ้นแข็งแกร่งก็ควรอยู่ห่างจากทวิตเตอร์เอาไว้

กล่าวได้ว่าอเมริกายุคทรัมป์ส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่ายุคใด ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสไตล์ของผู้นำที่คาดเดาลำบาก ไม่คงเส้นคงวา เชื่อถือไม่ได้ สิ่งที่ทั่วโลกภาวนามากที่สุดในขณะนี้ คือ ให้อเมริกาและจีนยุติสงครามการค้าโดยเร็วที่สุด อย่างน้อยก็เพื่อสร้างความแน่นอนให้กับบรรยากาศการค้า-การลงทุน เพื่อผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่จะมองว่าอเมริกาเป็นผู้กำหนดชะตาเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจอเมริกาค่อนข้างแข็งแกร่งแม้จะเกิดสงครามการค้า แต่ในมุมมองของ เอียน โกลดิน อดีตรองประธานธนาคารโลก เห็นว่าการที่เศรษฐกิจของสหรัฐได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากปัญหาสงครามการค้านั้น ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งด้วยตัวเอง แต่หลัก ๆ แล้วมาจากปัจจัยภายนอกที่ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจอเมริกาเอาไว้

โกลดินชี้ว่า ปัจจัยภายนอกดังกล่าวก็คือการขยายตัวของตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่เติบโตเกิน 4.5% ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจทั้งโลกเอาไว้ “หากไม่ใช่เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ เราอาจจะเห็นเศรษฐกิจอเมริกาและยุโรปชะลอลงมากกว่านี้ จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในเอเชียอยู่แถวหน้าของการเติบโตเหล่านั้น”

โกลดินบอกด้วยว่า เศรษฐกิจจีนจะยังเติบโตแข็งแกร่งที่ระดับ 6% ในทศวรรษหน้า ส่วนตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ก็จะเติบโตในอัตราใกล้เคียงกับจีน เรากำลังจะเห็นการจัดสมดุลใหม่ทางประวัติศาสตร์นั่นคือ ศูนย์กลางแรงดึงดูดโลกกำลังเคลื่อนไปยังเอเชีย เราจะเห็นการเติบโตของโลกมาอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี “การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่น ฟื้นตัวได้เร็วมากกว่าในอดีต เมื่อไหร่ก็ตามที่สหรัฐเป็นหวัด ส่วนที่เหลือของโลกจะไม่ติดหวัดอีกต่อไป”

อดีตรองประธานธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจหลีกไม่พ้นที่จะชะลอตัวตราบที่ยังคงกีดกันการค้า มุ่งมองสู่ภายในมากกว่ามองออกไปข้างนอก ความเสี่ยงที่จะชะลอตัวก็ยิ่งมีมากขึ้น คาดว่าการชะลอตัวจะดำเนินต่อไปจนถึงเลือกตั้งสหรัฐปลายปีหน้า และจะยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ หากทรัมป์ยังใช้วาทกรรมทางการเมืองเพื่อหาคะแนนนิยม อย่างไรก็ตาม หวังว่าในที่สุดแล้วสหรัฐจะตระหนักว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของโลก

อดีตผู้บริหารเวิลด์แบงก์รายนี้เปรียบเทียบว่า อาการของชาติตะวันตกในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป ไม่ต่างจากสภาพที่เรียกว่า “วิกฤตวัยกลางคน” เมื่อประเทศเหล่านี้ต้องยอมรับสถานะของตัวเองในระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะอเมริกากับอังกฤษ มีอาการดังกล่าวมากที่สุด “พวกเขาตระหนักว่าไม่สามารถบริหารจัดการโลกได้อีกต่อไป พวกเขาก็มีปัญหาในการปรับตัว มันคล้ายกับวิกฤตช่วงกลางชีวิตของบรรดาประธานบริหาร”

ทั้งนี้ ตลอดช่วงที่เปิดสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจีน ประธานาธิบดีสหรัฐตลอดจนทีมเศรษฐกิจมักจะมั่นใจเสมอว่าเศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งกว่าจีน จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ทำให้เป็นข้ออ้างที่ทรัมป์นำมาใช้เพื่อกดดันจีนด้วยการปรับขึ้นภาษีไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่าถือไพ่เหนือกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สุดท้ายแล้วในระยะยาวเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับพิษจากสงครามครั้งนี้ด้วย เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกแผ่วลง ความเจ็บปวดจะแผ่ซ่านมายังสหรัฐ