ผวา “น้ำมัน” 100 เหรียญ ทุบซ้ำ “เศรษฐกิจโลก” ถดถอย

เหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา กำลังสร้างความวิตกต่อเสถียรภาพของราคาน้ำมันไปทั่วโลก เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่ง นับว่าเป็นแหล่งแปรรูปน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก นักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบจากการโจมตีครั้งนี้อาจจะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ “สหรัฐอเมริกา” อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แทนที่ซาอุดีอาระเบีย

“ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า โรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท “ซาอุดี อารัมโก” (Saudi Aramco) ในแหล่งผลิตน้ำมันอับคิคและคูไรส์ทางทิศตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย ถูกโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนราว 10 ลำ ส่งผลให้เพลิงลุกไหม้สร้างความเสียหายต่อโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่งอย่างมาก โดยกลุ่มกบฏฮูษี (Houthi) ซึ่งมีฐานอยู่ใน “เยเมน” ออกมาอ้างว่า เป็นผู้กระทำการครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม นายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ กลับพุ่งเป้าไปที่ “อิหร่าน” ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่แท้จริง ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏฮูษี เพื่อก่อเหตุดังกล่าว ขณะที่ “เซย์ยิด อับบาส มูซาวี” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

ด้าน เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุฯ ระบุว่า บริษัทซาอุดี อารัมโก กำลังดำเนินการกอบกู้กำลังการผลิตน้ำมันที่สูญเสียไปจากการโจมตีครั้งนี้อย่างเร่งด่วน แต่ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้ ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดของซาอุฯ ประมาณ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มุ่งทำลายแหล่งน้ำมันสำคัญของซาอุฯเท่านั้น แต่ยังต้องการโจมตีอุปทานและความมั่นคงของน้ำมันโลก ซึ่งนับว่าเป็นการคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกด้วย” เจ้าชายอับดุลลาซิส บิน ซัลมาน กล่าว

รายงานระบุด้วยว่า กำลังการผลิตน้ำมันที่ลดลงของซาอุฯจะกระทบต่อซัพพลายน้ำมันทั่วโลกราว 5-6% เนื่องจากซาอุฯเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มีกำลังการผลิตราว 10% ของการผลิตน้ำมันจากทั่วโลก ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน

โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนต์ เมื่อ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเปิดตลาดครั้งแรกหลังการโจมตีทะยานขึ้นกว่า 19% สู่ระดับสูงสุดที่ 71.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเปิดตลาด สูงสุดนับแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเวสต์เทกซัส เพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่ 63.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับตัวลงเล็กน้อย หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศจะปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก

สอดคล้องกับรายงานของรอยเตอร์ส ที่อ้างการประเมินของนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมน้ำมันว่า ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอีก 5-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะแตะสูงสุดที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากซาอุฯใช้เวลาในการพลิกฟื้นสถานการณ์นานเกิน 1 เดือน

ขณะที่ซาอุฯส่งออกน้ำมันมายังตลาดเอเชียตะวันออกถึง 80% ของการส่งออกน้ำมันทั้งหมด ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ประเทศเอเชียจะเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบปริมาณน้ำมันที่หายไป แม้ว่ากระทรวงพลังงานของสหรัฐประกาศว่า พร้อมที่จะนำน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก ซึ่งขณะนี้สหรัฐมีปริมาณน้ำมันสำรองสูงถึง 644 ล้านบาร์เรล

ด้าน นายแซนดี้ ฟิลเดน นักวิเคราะห์จาก Morningstar ที่ปรึกษาการเงินระดับโลกมองว่า การที่สหรัฐผลักดันให้คลังน้ำมันสำรองของตนเองเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์น้ำมันในประเทศเอเชียดีขึ้น เนื่องจากระยะเวลาการจัดส่งน้ำมันจากซาอุฯไปสิงคโปร์ ใช้เวลาราว 19-20 วัน แต่หากขนส่งมาจากสหรัฐจะใช้เวลามากถึง 54 วัน ซึ่งทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่งเพิ่มขึ้นตามมา

“เจสัน บอร์ดอฟฟ์” ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพลังงานโลกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเมินว่า หากซาอุฯไม่สามารถฟื้นกำลังการผลิตได้เร็ว ๆ นี้ ขณะที่อิหร่านและเวเนซุเอลายังถูกแซงก์ชั่นโดยสหรัฐ ทำให้โอกาสที่สหรัฐจะกลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักแทนที่ซาอุฯยังมีอยู่สูง

ปัจจุบันสหรัฐมีกำลังการผลิตน้ำมันมากกว่า 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 15% ของอุปทานน้ำมันโลก ขณะที่มีการส่งออกน้ำมันมากกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้สหรัฐสามารถที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก แทนที่ซาอุดีฯ จากการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของตนเอง และการใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่อประเทศอื่น

ทั้งนี้ “Energy Aspects” บริษัทที่ปรึกษาด้านตลาดพลังงาน ได้คาดการณ์ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จาก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาส 2

ด้าน สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดยังคงเพียงพอ แม้ว่าซาอุฯจะไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิตชั่วคราว แต่ดีมานด์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้น

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เสถียรภาพของราคาน้ำมันโลกต่อจากนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น จากเหตุโจมตีโรงกลั่นในซาอุฯ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางจากสงครามการค้า ราคาน้ำมันกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้เลวร้ายมากขึ้น และระดับความรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้นนับจากนี้ไป ขณะที่เหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นครั้งนี้ก็ทำให้ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของโลกที่สูงขึ้น