ตม.30 ขวางต่างชาติลงทุน ‘12 ประเทศ.-เจโทร’ จี้ปลดล็อก

12 สถานทูต-เจโทร โวยเอกสาร ตม.30 ทำป่วน จี้รัฐแก้ปมคุมเข้มที่พักอาศัยคนต่างด้าว บีบเจ้าของบ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ แมนชั่นต้องแจงยิบ เพิ่มภาระ-ค่าใช้จ่ายนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงานทักษะชาวต่างชาติ ชี้กระทบความเชื่อมั่น “บิ๊กตู่” สั่งเร่งสางปัญหา ด้าน สตม.รับลูกเตรียมชง ครม.ปลดล็อกกฎหมาย

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยและทำงานในไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานมีทักษะ นักธุรกิจ นักลงทุน ฯลฯ กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการที่รัฐบาลไทยเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา

ตม.30 ป่วนนักธุรกิจต่างชาติ

ทั้งนี้ ข้อกังวล คือ แนวปฏิบัติตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ให้เจ้าบ้าน เจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถาน ผู้จัดการโรงแรม ที่รับคนต่างด้าวเข้าพักอาศัยต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานีตำรวจท้องที่ ตามแบบ ตม.30 ภายใน 24 ชั่วโมง

“ตม.30” ไม่ใช่กฎระเบียบใหม่ เป็นกฎระเบียบเก่าตั้งแต่ปี 2522 แต่กำลังถูกนำมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ผมมองว่าสร้างเรื่องยุ่งยากให้กับชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย เพราะครอบคลุมถึงแรงงานมีทักษะที่ทำงานในไทยมาเป็นเวลานานด้วย ปัจจุบันชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยเกือบทุกราย เช่น ญี่ปุ่น นักลงทุนเบอร์หนึ่งของไทย นักธุรกิจจากยุโรป หรือฝรั่งเศสได้แสดงความกังวลมากขึ้น จึงน่าห่วงว่าการแจ้งตามแบบฟอร์ม ตม.30 จะกระทบระยะกลางและระยะยาว ทำให้เกิดมุมมองลบกับไทย”

ใช้กฎหมายซ้ำซ้อนเพิ่มภาระ

นายสแตนลีย์ คัง กล่าวว่า ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ดัชนีชี้วัดความน่าดึงดูดใจของประเทศด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ที่ผ่านมารัฐบาลไทยดำเนินการในทิศทางที่ดี แต่ปัญหาเอกสาร ตม.30 กำลังฉุดรั้งความสำเร็จเหล่านั้น

“หากคุณอนุมัติ visa หรือใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้ชาวต่างชาติแล้ว ทำไมถึงออกระเบียบนี้บังคับใช้ซ้ำซ้อนอีก ที่สำคัญ ตม.30 ยังเพิ่มภาระ ค่าใช้จ่ายให้กับผู้ให้เช่าที่พักอาศัย เพราะถ้าไม่แจ้งตามเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ต้องจ่ายค่าปรับ”

นายสแตนลีย์กล่วาด้วยว่า ขณะเดียวกัน แบบฟอร์ม ตม.30 นี้ดูเหมือนจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันอาชญากรรม ดังนั้น จึงได้ยื่นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ตม.30 โดยเร็วที่สุด ก่อนภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ จะเสียหายมากกว่านี้

เจโทรชี้กระทบความเชื่อมั่น

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัญหาแบบฟอร์ม ตม.30 ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในภาพรวม เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก หากมีระเบียบกฎหมายที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับชาวต่างชาติจะดึงดูดใจต่อภาคธุรกิจเข้ามาลงทุน แต่หากสร้างความยุ่งยากหรือทำให้เกิดปัญหาจะส่งผลด้านลบ รัฐบาลไทยควรคำนึงถึงเรื่องรายได้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในระยะยาว แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเกินไป

บิ๊กตู่เต้น 12 สถานทูตร้องเรียน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยทางสถานทูต 12 ประเทศมีข้อร้องเรียนจากนักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด

ล่าสุดได้มีการประชุมระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และหน่วยงานความมั่นคง อาทิ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน

ได้ข้อสรุป 3 ฝ่ายแก้ ตม.30

ผลการประชุมหารือได้ข้อสรุปแนวทางในการแก้ปัญหาจะเป็นการแก้ทั้งระบบ เพื่อทบทวน ปรับปรุง ยกเลิกกฎหมายล้าสมัย ทั้งนี้ กฎหมายบางฉบับอาจไม่ถึงขั้นต้องแก้กฎหมาย เพียงแต่แก้ไขกระบวนการ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งเป็นทางออกที่ดีกว่าการแก้กฎหมายซึ่งอาจใช้เวลานาน

ด้าน พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.ภ.7 ปฏิบัติราชการ สตม. เปิดเผยว่า ข้อปฏิบัติตามมาตรา 38 กำหนดให้เจ้าบ้าน เจ้าของบ้าน หรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรม ซึ่งรับคนต่างด้าวให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว เข้าพักอาศัย ต้องแจ้งเจ้าพนักงาน ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง หรือสถานีตำรวจท้องที่ภายใน 24 ชั่วโมง

โดยเจ้าของที่พักที่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ตม.30 ได้แก่ ผู้จัดการโรงแรม เจ้าของเกสต์เฮาส์ บ้านเช่า อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น รวมทั้งคอนโดฯให้เช่า ฯลฯ

“โรงแรมไม่ค่อยมีปัญหาเพราะปฏิบัติตามปกติอยู่แล้ว ผู้เดือดร้อนหลัก ๆ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านเช่า เกสต์เฮา อพาร์ตเมนต์ แมนชั่น คอนโดฯให้เช่ามากกว่า แม้ปัจจุบันมีทางเลือกให้แจ้งได้ทั้งนำเอกสารมาแจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นแจ้ง แจ้งทางไปรษณีย์ หรือแจ้งทางอินเทอร์เน็ต แต่อาจยุ่งยาก และต่างชาติมองเป็นเรื่องจุกจิก หรือสร้างภาระ โดยเฉพาะหลังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวข้องกับความมั่นคง”

ชง ครม.ปลดล็อกกฎหมายเก่า

ทั้งนี้ สตม.เตรียมแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นแล้ว โดยจะเสนอ ครม.พิจารณาออกมาตรการผ่อนปรนโดยเร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายที่บังคับใช้มานานอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ระยะยาวอาจต้องเสนอปรับแก้ไข พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ แต่คงต้องพิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันต่างชาติบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย ประสงค์ร้าย หรือแก็งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น


นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเตรียมแก้ระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนต่างชาติที่มาทำงานในไทย และมีใบอนุญาต หรือเวิร์กเพอร์มิต 1.5 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูง เนื่องจาก พ.ร.บ.คนต่างด้าว มาตรา 37 กำหนดว่า หากย้ายที่อยู่ต้องรายงานต่อสถานีตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ต้องรายงานภายใน 90 วันอยู่แล้ว จึงเป็นความซ้ำซ้อนซึ่งควรแก้ไขโดยเร็ว