“สงครามการค้า” กระตุ้นจีน เร่งพัฒนานวัตกรรมครองโลก

(Photo by HECTOR RETAMAL / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม ยิ่งอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้นเท่าใด นวัตกรรมยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น

ในบรรดาอุตสาหกรรมทั้งหลาย ไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ให้ความสำคัญต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งในแง่ของการออกแบบและการพัฒนามากไปกว่าอุตสาหกรรมเชิงเทคโนโลยีอีกแล้ว

ตัวอย่าง เช่น สมาร์ทโฟน ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้แม้เพียงปีเดียว งานออกแบบใหม่ ๆ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับสมาร์ทโฟนที่ต้องการเป็นที่หนึ่งของตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ชนิดผิดพลาดหรือบกพร่องแม้เพียงครั้งเดียว อย่างเดียว อาจหมายถึงความสูญเสียมหาศาล

ชาติที่เป็นที่หนึ่งในเชิงนวัตกรรม การคิดค้นและพัฒนาทางเทคโนโลยี จึงมักครองความเป็นหนึ่งในตลาดของสินค้าประเภทนั้น ๆ ชนิดยากที่ใครจะก้าวทัน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นบริษัทจากจีนก้าวขึ้นสู่ความเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมเชิงเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นของสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีระหว่างสหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นชาตินวัตกรรมอันดับหนึ่งมาช้านาน กับจีนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก

จีนตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาและตีตรามาอย่างต่อเนื่องว่า เป็นที่ตั้งของ “โรงงานโคลนนิ่ง” ทางเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทเหล่านี้กลับครองตลาดโลกด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเอง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งล้ำหน้าเกินกว่าผู้ผลิตในประเทศอื่น ๆ หรืออย่างน้อยก็สร้างความพึงพอใจได้ไม่แพ้กับนวัตกรรมของประเทศอื่น ๆ จึงสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดที่แข่งขันสูงเช่นนี้ได้

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ บริษัทเหล่านี้ล้วนเติบใหญ่ขึ้นมาจากการเป็นสตาร์ตอัพ เป็นกิจการเริ่มต้นที่มีขนาดเล็กมาก มีผู้ก่อตั้งและพนักงานเพียงไม่กี่คน ไม่ช้าไม่นานก็สามารถทะยานขึ้นสู่ระดับโลกได้

ระลอกคลื่นสตาร์ตอัพทางเทคโนโลยีระลอกใหม่จากจีนเหล่านี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง ไม่แพ้คลื่นเทคโนโลยีระลอกแรก ๆ อย่าง อาลีบาบา, เทนเซนต์, เจดี หรือไป่ตู้ แต่อย่างใด

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดของสตาร์ตอัพเหล่านี้ มีตั้งแต่ “อินสตา360” ผู้ผลิตกล้องแบบ “สปอร์ตคาเมรา” ที่ได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี กวาดรางวัลระดับนานาชาติมามากมาย และได้รับความสนใจดึงมาเทียบเคียงกับผู้ยิ่งใหญ่ของวงการอย่าง “โกโปร อิงก์.” อยู่ในเวลานี้

อินสตา360 เกิดและเติบโตที่เสิ่นเจิ้น ใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้นก็ประสบผลสำเร็จ สร้างแรงสะเทือนในระดับโลกได้

หรือ “หัวหมี่” บริษัทที่แตกหน่อออกมาจาก “เสี่ยวหมี่” ที่เดิมทีเป็นสตาร์ตอัพไร้ชื่อเสียงเรียงนามจากปักกิ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน “หัวหมี่” คือ ผู้ผลิตสมาร์ทวอตช์ ที่ป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดโลกสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ในเวลานี้

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ “ดีเจไอ เทคโนโลยี” ที่สามารถทลายข้อครหาว่าลอกเลียนแบบและลักลอบฉกเทคโนโลยีตะวันตกลงได้อย่างหมดจด และพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า บริษัทเทคโนโลยีของจีนไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่การเป็นคู่สัญญารับจ้างผลิตให้กับผู้นำอุตสาหกรรมทั้งหลายเท่านั้น

อาวี กรีนการ์ต นักวิเคราะห์ตลาดสินค้าเทคโนโลยีของเทคสปอเนนเชียล ระบุว่า ดีเจไอ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโดรน ด้วยฟีเจอร์ อย่างเช่นความสามารถในการหลบหลีกอุปสรรคระหว่างการบินที่นำมาใช้เป็นรายแรก ทำให้คู่แข่งในสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส และไต้หวัน ไม่สามารถตามทันได้

ทำให้ ดีเจไอ กลายเป็นผู้นำในตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ของโลกอยู่ในเวลานี้

ซิฟก้า เป็นอีกสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ บริษัทนี้ตั้งอยู่ในตงกวน ร่วมก่อตั้งโดย โจ เจี้ยน ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานถึง 18 ปี ในแวดวงอุตสาหกรรมออดิโอ เคยทำงานให้กับบริษัทระดับโลกอย่าง เซนไฮเซอร์ อีเล็กทรอนิกส์, โซนี่ และโบส มาก่อนหน้าที่จะมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของซิฟก้า ผู้ผลิตหูฟังระดับไฮเอนด์ ที่ตัวครอบหูผลิตด้วยไม้ทำมือภายใต้เครื่องหมายการค้า

“ไอวา” และหูฟังระดับพรีเมี่ยม “เซนดี้ ออดิโอ” ขึ้นไปแข่งขันกับแบรนด์ระดับโลก รวมทั้งในตลาดจำเพาะที่เคยสงวนไว้สำหรับหูฟัง แฮนดิคราฟต์ จากผู้ผลิตอเมริกันเท่านั้นอีกด้วย

สภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้บริษัทอย่าง ซิฟก้า หรือดีเจไอ สามารถสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมของตัวเองได้รวดเร็วก่อนใคร

เช่นกรณีของซิฟก้า ตงกวน เป็นแหล่งผลิตของวัสดุทุกอย่างที่เป็นห่วงโซ่อุปทานในการผลิตหูฟังแบบครบวงจร ผู้ผลิตชิ้นส่วนเฉพาะมีมากนับเป็นหลายร้อยบริษัท ตั้งแต่ฟองน้ำ เรื่อยไปจนถึงนอตตัวเล็ก ๆ สำหรับใช้ยึดประกอบหูฟัง

ผลก็คือ ซิฟก้า สามารถรวมเอาการออกแบบและนวัตกรรมมาไว้ในที่เดียวกันกับที่ทำการผลิต ไม่เพียงทำให้ต้นทุนถูกลง ยังทำให้การแก้ไข ปรับเปลี่ยน หรือตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด รวดเร็วและทันท่วงทีอีกด้วย

โจ เจี้ยน บอกว่า 90% ของหูฟังที่ขายกันอยู่ทั่วโลกผลิตในจีน 90% ของหูฟังที่ผลิตในจีนนั้นผลิตในมณฑลกวางตุ้ง และ 90% ของหูฟังที่ผลิตในกวางตุ้งนั้นทำขึ้นที่ตงกวนนี่เอง


นี่คือความได้เปรียบที่ใช่ว่าจะมีใครสามารถมีกันได้ง่าย ๆ แน่นอน