“เฟด” หั่นดอกเบี้ย 0.25% ส่งซิกผ่อนคลายตลาดเงิน

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก โดย นงนุช สิงหเดชะ

คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ตามคาด นับเป็นการปรับลงครั้งที่ 2 ของปีนี้ หลังจากปรับลดครั้งแรกไปเมื่อเดือนกรกฎาคม การประชุมของเฟดนัดนี้ถูกตลาดและนักลงทุนจับตามองมากที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยความคาดหวังสูงว่าเฟดจะต้องหั่นดอกเบี้ยไม่มากก็น้อย เนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังไม่ยุติ

อย่างไรก็ตาม นับว่ามติของเฟดในครั้งนี้ไม่เอกฉันท์และมีจำนวนผู้ไม่เห็นด้วยมากที่สุด โดยกรรมการ 3 คนคัดค้านการลดดอกเบี้ย ส่วนอีก 1 คนอยากให้ปรับลดมากถึง 0.5%

สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจอีกประเด็นหนึ่งในครั้งนี้ก็คือ เฟดแทบไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต เท่ากับไม่มีการรับประกันว่าจะลดอีกในปีนี้ โดยประมาณการส่วนตัวของกรรมการแต่ละคนเกี่ยวกับ

แนวโน้มดอกเบี้ยหรือ dot plot ค่อนข้างแตกต่างกัน กล่าวคือ 5 คนเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ช่วงเดิมคือระหว่าง 2 ถึง 2.25% ส่วนอีก 5 คนเห็นว่าควรลดลง 0.25% และคงอัตรานี้ไปตลอดทั้งปี ขณะที่อีก 7 คนต้องการให้ปรับลดอีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อยภายในปีนี้

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบันถือว่าน่าพอใจ ตลาดแรงงานและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อน่าจะถึงเป้าหมายที่กำหนดคือ 2% อย่างไรก็ตาม เพื่อรับมือความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและความตึงเครียดทางการค้า เฟดจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเล็กน้อย เพื่อรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในระยะยาว โดยประเมินว่าปีนี้จีดีพีสหรัฐจะเติบโต 2.2% สูงกว่าประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.1%

“การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนช่วงกลางวัฏจักร ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์แบบแข็งกร้าวเพื่อผลักดันให้ดอกเบี้ยลดลง” ประธานเฟดกล่าว และยังแสดงท่าทีด้วยว่า เฟดอาจพิจารณากลับมาเพิ่มขนาดงบดุลอีกครั้งหนึ่งเพื่อผ่อนคลายตลาดเงิน แต่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะดำเนินการเมื่อใดด้วยวงเงินเท่าใดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินร้ายแรงในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่จำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ส่งผลให้งบดุลของเฟดบานปลาย 4 ล้านล้านดอลลาร์ จากการใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (quantitative easing : QE)

โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกัน จนทำให้ขนาดงบดุลของเฟดขยายตัวถึง 4 เท่า เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เฟดได้เริ่มมาตรการขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกับลดขนาดงบดุลไปด้วย เพื่อเข้าสู่นโยบายการเงินแบบปกติ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ที่เฟดออกมาพูดเรื่องการลดขนาดงบดุล มักจะทำให้ตลาดตื่นตกใจ เช่นปีที่แล้วเมื่อประธานเฟดระบุว่าการลดขนาดงบดุลจะดำเนินไปอย่างอัตโนมัติ ส่งผลให้ตลาดซบเซาไปทั้งไตรมาส

มติของเฟดครั้งนี้ ยังคงทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดือดดาลด้วยความไม่พอใจเช่นเดิม ถึงกับทวีตข้อความบริภาษประธานเฟดว่า ขาดความกล้าหาญ ไม่มีเหตุผลและไม่มีวิสัยทัศน์ ทำให้สหรัฐแข่งขันได้น้อยลง โดยก่อนหน้าประชุมเฟดครั้งนี้ ทรัมป์ได้ทวีตข้อความกดดันให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 0% หรือติดลบ

ส่วนปฏิกิริยาของนักลงทุน ค่อนข้างผิดหวัง ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 36.28 จุด หรือ 0.1% ปิดที่ 27,147.08 จุด เนื่องจากผิดหวังที่เฟดไม่ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ dot plot ของคณะกรรมการ (บอร์ด) จะถูกนักวิเคราะห์หลายคนตีความว่ามีความแตกต่างกัน ทำให้ไม่เห็นสัญญาณชัดเจน แต่ในมุมมองของ เดวิด เคลลี่ แห่งเจพี มอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ เห็นว่า หากมองในภาพรวมของบอร์ด

ทั้งคณะที่มี 17 คน ก็อาจถูกตีความว่าเฟดไม่ต้องการลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่ากรรมการที่มีสิทธิในการออกเสียงทั้ง 10 คนต้องการให้ลดดอกเบี้ยประมาณ 1 หรือ 2 ครั้งในปีนี้