“โดรน” ถล่มโรงกลั่นซาอุฯ “อาวุธใหม่” พลิกโฉมโลก

เหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่งของบริษัท “ซาอุดี อารัมโก” ในประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา สร้างความตระหนกไปทั่วโลก ด้วยความกังวลว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะพุ่งสูงขึ้น เพราะโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 2 แห่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลักของซาอุฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 5% ของปริมาณอุปทานน้ำมันทั่วโลก

นอกจากเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ความน่าวิตกอีกอย่างที่หลายฝ่ายกำลังจับจ้องคือ การใช้ อากาศยานต่อสู้ไร้คนขับ (UAVs) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “โดรนติดอาวุธ” โจมตีในครั้งนี้

ภายหลังการจู่โจมโรงกลั่นน้ำมันของซาอุฯ ทางกลุ่มกบฏฮูตี (Houthi) ซึ่งมีที่มั่นอยู่ในเยเมนได้อ้างตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ด้วยการใช้โดรนติดขีปนาวุธโจมตีครั้งนี้ ท่ามกลางข้อสงสัยของสหรัฐอเมริกาและซาอุฯ ที่พุ่งเป้าไปที่อิหร่านว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

บีบีซีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมของซาอุฯ เปิดเผยหลักฐานซากชิ้นส่วนของโดรนติดอาวุธที่ถูกใช้ในการโจมตีครั้งนี้ โดยระบุว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยทางการอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ได้เปิดเผยว่าจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ครั้งนี้อาจทำให้ “โดรนติดอาวุธ” กลายเป็นเครื่องมือทางการทหารที่สำคัญของการสู้รบในตะวันออกกลาง ด้วยความสามารถในการโจมตีเป้าหมายที่แม่นยำ และการใช้จำนวนคนในการควบคุมน้อยกว่าการโจมตีในรูปแบบอื่น

“โจนาธาน มาร์คัส” ผู้สื่อข่าวด้านการทหารและการทูตของบีบีซี ระบุว่า แม้ว่าการใช้โดรนทางการทหารในตะวันออกกลางจะมีการใช้ครั้งแรกตั้งแต่สงครามอัฟกานิสถาน ปี 2001 ซึ่งจำกัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงอย่างสหรัฐและอิสราเอล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการใช้งานโดรนติดอาวุธโดยประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “จีน” กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อีกแห่งของโลก เซาท์ไชน่ามอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า จีนยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกโดรนทางการทหารให้กับอีก 13 ประเทศทั่วโลก โดยมีหลายประเทศในตะวันออกกลางที่นำเข้าโดรนติดอาวุธจากจีน เช่น อียิปต์ อิรัก แอลจีเรีย และจอร์แดน

ขณะที่อิหร่าน ซึ่งถูกแซงก์ชั่นทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร ก็มีการพัฒนาโดรนติดอาวุธ รวมทั้งยังถ่ายทอดเทคโนโลยีและขายโดรนให้กับกลุ่มติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรในภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มกบฏฮูตีและกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah)

ส่วนโดรนติดอาวุธที่ผลิตโดย “สหรัฐ” ก็มีการใช้อย่างแพร่หลายในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการต่อสู้กับกลุ่มอัลกออิดะฮ์และไอเอสด้วยเช่นกัน


มาร์คัสมองว่า “ตลาดโดรนทางการทหาร” จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามามีบทบาทของจีน ทั้งยังจะเพิ่มความร้อนแรงในตะวันออกกลางมากขึ้นในอนาคต ซึ่งการสร้างความได้เปรียบทางการทหารให้กับฝ่ายที่ครอบครองเทคโนโลยีที่สูงกว่าอีกฝ่าย อาจทำให้เกิดการโต้ตอบกันอย่างรุนแรง จนไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดได้ง่าย