“อินเดีย” ลดภาษีธุรกิจ ดูด “ทุนต่างชาติ” กู้เศรษฐกิจ

REUTERS/Daniel Kramer
“อินเดีย” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 5.0% เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี ขณะที่อัตราว่างงานขยายตัวสูงสุดในรอบ 45 ปี ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการพึ่งพาศักยภาพแข่งขันของภาคเอกชนด้วยการปรับลดอัตราภาษี

“บีบีซี” รายงานว่า นิรมาลา สิธารามาน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดีย ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงมาอยู่ที่ 22% และเมื่อรวมภาษีอื่น ๆ ทำให้ภาคธุรกิจจะต้องเสียภาษี 25.2% จากเดิมต้องเสีย 34.9% โดยจะเริ่มมีผลในปีงบประมาณนี้ซึ่งเริ่มในวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา และสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตที่ลงทุนและจดทะเบียนใหม่หลังวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะได้รับสิทธิพิเศษภาษี 17% ด้วยเงื่อนไขว่าต้องเริ่มดำเนินผลิตภายในเดือน มี.ค. 2023

ทั้งนี้ มาตรการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ที่เรียกว่าแผนการ “Make In India” โดยเน้นไปที่การดึงดูดนักลงทุนจากภายนอก

“การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลนับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลอย่างยิ่งใหญ่ต่อแผนการ #MakeInIndia ในการดึงดูดนักลงทุนจากภาคเอกชนทั่วโลก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน สร้างตำแหน่งงาน และสร้างประโยชน์ ให้กับคนอินเดีย 1,300 ล้านคน”นายโมดีระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัว

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า การเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดนายโมดีได้พบปะกับชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย รวมถึงธุรกิจเอกชนรายใหญ่ของสหรัฐอย่าง “เจพีมอร์แกนเชส” ผู้ให้บริการด้านการเงินและการลงทุน, “ล็อกฮีด มาร์ติน” ผู้ผลิตอากาศยาน อวกาศ และการป้องกันประเทศ, “มาสเตอร์การ์ด” บริษัทให้บริการระบบชำระเงิน และ “วอลมาร์ต” ยักษ์ค้าปลีก โดยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อเพิ่มโอกาสในเพิ่มการลงทุนในอินเดีย

นายมูเกช อาคิ ประธานที่ประชุมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์สหรัฐ-อินเดีย ระบุว่า การปรับลดอัตราภาษีครั้งนี้ “จะทำให้บริษัทของอินเดียมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ขณะเดียวกันก็ทำให้อินเดียกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจให้กับบริษัทต่างประเทศได้เข้ามาขยายฐานการผลิตในอินเดียมากขึ้น”

โดยอัตราภาษีที่ต่ำลงจะทำให้อินเดียมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “บังกลาเทศ” และอาจก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกที่ดีทัดเทียม “เวียดนามและไทย” สำหรับธุรกิจต่างชาติที่ต้องการหาฐานการผลิตแห่งใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐและอินเดีย ที่แสดงออกให้เห็นในการพบกันระหว่างประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ กับนายกรัฐมนตรีโมดี ที่เมืองฮิวสตันของสหรัฐ ยังช่วยให้บริษัทต่างชาติมองเห็นโอกาสการลงทุนในอินเดียมากขึ้นจากสถานะของอินเดียในการเป็นพันธมิตรต่อต้านอำนาจของจีน และการเป็นฐานความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียใต้ที่สำคัญของสหรัฐ