จีนเปิดแผน “โลจิสติกส์” เชื่อมโลก ขยายเส้นทาง-เพิ่มสปีดสูงสุด

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และสภารัฐกิจ เผยแพร่เอกสารวาระการพัฒนาประเทศฉบับใหม่ เรื่องการยกเครื่อง “ระบบโลจิสติกส์ แบบครบวงจร” ในปี 2035 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก

นายหวัง ซีชิง เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ซินหัว” ว่าจีนมุ่งเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับระบบการขนส่งแบบครบวงจร หรือ “สมาร์ทโลจิสติกส์” โดยจะมุ่งไปที่การขยายขีดความสามารถของโลจิสติกส์จีนให้กว้างขวางขึ้น และเพิ่มความเร็ว “ระดับสูงสุด” ให้กับระบบขนส่งต่าง ๆ ซึ่งจะครอบคลุม 3 เครือข่ายหลัก ตั้งแต่รถไฟความเร็วสูง, ทางด่วนพิเศษ ไปจนถึงเส้นทางการบิน

วาระการพัฒนาฉบับล่าสุดนี้ ยังหมายรวมถึง การยกระดับขีดความสามารถให้กับเส้นทางเดินเรือ และท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของจีน และยังเพิ่มวาระการพัฒนาสำหรับถนนไฮเวย์และทางรถไฟในเขตพื้นที่ชนบท ซึ่งอยู่ในการพัฒนาความเร็ว “ระดับปานกลาง-สูง”

นายหวังกล่าวว่า นอกจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จีนต้องการแก้ไขการจราจรที่แออัดและกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยแผนการขนส่งอัจฉริยะจะใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), บล็อกเชน และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อประมวลงานที่มีรูปแบบซับซ้อน

ระบบโลจิสติกส์ใหม่นี้ ยังตั้งเป้าพัฒนาความเร็วสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก โดยรัฐบาลจะเริ่มพัฒนา 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ ได้แก่ การขยายเส้นทางรถไฟไฮสปีดเทรนเป็น 6,800 กิโลเมตร จากปัจจุบันมีความยาวอยู่ที่ 3,200 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ความยาวของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงทิ้งห่าง “สเปน” ที่มีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน อยู่ที่ 3,100 กิโลเมตร ตามด้วยญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส

ส่วนอีกหนึ่งของโปรเจ็กต์ก็คือ การเพิ่มความเร็วสูงสุดให้กับระบบโลจิสติกส์ โดยตั้งเป้าจัดส่งสินค้าภายใน 1 วันทั่วประเทศจีน, 2 วันสำหรับการจัดส่งไปยังชาติเพื่อนบ้าน และ 3 วันในทั่วโลก นายหวังกล่าวว่า โปรเจ็กต์นี้จะอื้อให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตทั่วโลก และที่สำคัญสินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากจีน

และในฐานะที่จีนยังติดอันดับประเทศที่มีค่ามลพิษที่เป็นอันตรายของโลก จีน จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่ต้อง “ลดมลพิษ” และ “ประหยัดพลังงาน” เท่านั้น

ในวันเดียวกัน “เจิ้ง จิงหยู” หนึ่งในคณะกรรมการกรมการขนส่งของเมืองเสิ่นเจิ้น กล่าวกับ “เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์” ว่า รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้เมืองเสิ่นเจิ้นนำร่องการพัฒนา และเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีเครือข่ายขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้าทั้งหมด แห่งแรกของจีน และเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งได้มีการพูดคุยกันตั้งแต่ปี 2018 โดยวาระการพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2035 ตามกรอบเอกสารทางการที่เพิ่งประกาศล่าสุด

โดยเมื่อปี 2018 ในเมืองเสิ่นเจิ้นมีรถบัสโดยสารไฟฟ้า (EVs) ทั้งหมด 16,259 คัน มากที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ของจีน และมากกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับนครนิวยอร์ก ขณะที่มีรถแท็กซี่ไฟฟ้า 19,000 คัน ทั้งนี้ รายงานระบุว่า กรอบการพัฒนาเครือข่ายขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้าของเมืองเสิ่นเจิ้น จะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายระดับประเทศสำหรับเมืองอื่น ๆ ในจีน ขณะที่ “เซี่ยงไฮ้” เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ได้รับความสนใจว่าจะขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีเหมือนกับเสิ่นเจิ้น

หนึ่งในคณะกรรมการผู้กำหนดนโยบายของกรมการขนส่งเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยว่า เซี่ยงไฮ้มีแผนและกรอบนโยบายเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะเช่นกัน ซึ่งกำหนดจะปรับปรุงภาคการขนส่งสาธารณะเป็นระบบไฟฟ้า 50% ของรถสาธารณะที่ให้บริการอยู่ ภายในปี 2020 และอีก 50% ในปี 2021 ซึ่งคาดว่าเซี่ยงไฮ้จะเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีเครือข่ายขนส่งสาธารณะระบบไฟฟ้าทั้งหมดแห่งที่ 2 ของจีน

หากรัฐบาลจีนสามารถยกเครื่องโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นการเพิ่มอิทธิพลและอำนาจต่อรองในเวทีการค้าโลกได้มากขึ้น