ธุรกิจญี่ปุ่นผวา ผลกระทบจาก “เบร็กซิต”

(Photo by Tolga AKMEN / AFP)
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

ในบรรดาชาติอุตสาหกรรมทั้งหลายในภูมิภาคเอเชีย ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการพ้นความเป็นหนึ่งในสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษก็คือ “ญี่ปุ่น”

เหตุผลเป็นเพราะญี่ปุ่นไม่เพียงค้าขายกับสหราชอาณาจักรเหมือนอย่างประเทศอื่น ๆ ในเอเชียเท่านั้น ยังลงทุนอยู่ที่นั่นมหาศาลเหลือเกิน

ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในอังกฤษครั้งแรกตั้งแต่ยุคสมัยของ บารอนเนส มาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ

แทตเชอร์ชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เมื่อปี 1979 หลังจากที่อังกฤษตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เงินเฟ้อสูง และภาวะว่างงานสูงลิ่ว

ตอนนั้น ทั่วโลกพร้อมใจกันขนานนามอังกฤษว่าคือ “ผู้ป่วยแห่งยุโรป”

แทตเชอร์พลิกฟื้นเศรษฐกิจของอังกฤษ อาศัยประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจแบบเปิดและการเป็นส่วนหนึ่งของอียู สร้างความรุ่งเรืองอีกครั้ง ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

ตอนต้นทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นแห่ไปลงทุนในอังกฤษ นำขบวนโดยอุตสาหกรรมรถยนต์ ต่อด้วยภาคธุรกิจการธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากมองว่าอังกฤษก็คือ ประตูสู่สหภาพยุโรปนั่นเอง

ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นถึง 40 ปีที่ผ่านมาระหว่างญี่ปุ่นกับอังกฤษ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่นกังวลมากกับเบร็กซิต หรือการพ้นจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร

โดยเฉพาะการเบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลงตามกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้

หากอังกฤษพ้นจากการเป็นสมาชิกอียูโดยไม่มีการทำข้อตกลง สินค้าใด ๆที่ผลิตในอังกฤษ เมื่อส่งไปขายในยุโรป ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้า, พิกัดอัตราภาษีศุลกากร, และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมหาศาล จากที่เคยได้รับการคุ้มครองไว้จากการเป็นสมาชิก

ปัญหาของญี่ปุ่นก็คือ มีสินค้าญี่ปุ่นมากมายที่ผลิตในโรงงานในอังกฤษแล้วส่งออกไปขายในอียู

น่าสนใจมากที่ราวครึ่งหนึ่งของรถยนต์ที่โตโยต้า, นิสสัน และฮอนด้า ผลิตได้ทั้งหมดในแต่ละปี เป็นผลผลิตจากโรงงานผลิตในอังกฤษ

ยิ่งกว่านั้น เกือบทั้งหมดของรถยนต์ที่ผลิตสำเร็จในอังกฤษส่งขายให้กับตลาดยุโรป

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เหล่านั้น มีความรู้สึกเหมือน ๆ กับประตูที่เคยเปิดกว้าง กลับปิดตายใส่หน้า ยังไงยังงั้น

นักธุรกิจของญี่ปุ่นจึงไม่เห็นด้วยกับเบร็กซิต รวมทั้ง ทาดาชิ ยานาอิ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “ฟาสท์ รีเทลลิง” มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในญี่ปุ่นจากการจัดอันดับในปีนี้ ก็ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน

“ยานาอิ” ยังเชื่อด้วยว่าเบร็กซิตนั้น “ทำไม่ได้” ในทางปฏิบัติ

นายยานาอิ ก็เหมือนกับนักธุรกิจญี่ปุ่นอีกหลายคนที่เริ่มต้นการเติบโตขึ้นสู่ระดับนานาชาติที่อังกฤษ

และเมื่อ 18 ปีก่อนได้ไปลงทุนเปิดร้าน “ยูนิโคล่” แห่งแรกในลอนดอนและรุกไปทั่วยุโรป ก่อนที่จะขยายกิจการไปทั่วโลก ทำยอดขายเมื่อปีที่ผ่านมา 2.13 ล้านล้านเยน หรือราว 19,200 ล้านดอลลาร์

เหตุผลที่เบร็กซิตเป็นเรื่องทำไม่ได้ ในความเห็นของทาดาชิ มี 3 ข้อด้วยกัน

ข้อแรกก็คือ พรมแดนของที่เคยชัดเจนแน่นหนามั่นคงนั้น เคยเลือนหายไปแล้วจากการเป็นส่วนหนึ่งของอียู เมื่อกลับมาใหม่ พยายามอย่างไรก็ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

สิ่งที่เคยได้ประโยชน์จากการเปิดพรมแดนกว้างและเสรี ไม่ว่าจะรู้ตัวกันหรือไม่ก็ตาม จะเปลี่ยนแปลงไป

ผลก็คือใครก็ตามที่เต็มไปด้วยความสามารถ มีพรสวรรค์ ก็จะหันไปหาพื้นที่ใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับการดำเนินธุรกิจของตนมากกว่า

เรื่องที่สองคือความจำเป็นในการต้องปล่อยให้พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือหลังเบร็กซิต คือความท้าทายใหญ่หลวงมากที่ ทาดาชิ ยานาอิ คิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำได้

สุดท้ายก็คือ สกอตแลนด์ คงต้องแยกออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร เห็นได้ชัดจากผลประชามติที่ทำกันเมื่อปี 2016

“ผมกลัวว่า อังกฤษจะย้อนกลับไปเป็นเหมือนยุคก่อนหน้าแทตเชอร์ ยุคที่เป็นคนป่วยแห่งยุโรป” ทาดาชิ ยานาอิ ระบุ

เป็นคนป่วยเรื้อรังที่ไม่ตายแต่ก็ไม่หายซักที เพราะเบร็กซิต

นี่คือคำเตือนจากคนที่สร้างตัวจากศูนย์ด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีที่เปิดกว้าง ซึ่งอังกฤษกำลังต้องการทำลายนั่นเอง