พิษ “เทรดวอร์” ออกฤทธิ์ “ดัชนีผลิต” สหรัฐดิ่งสุดรอบ 10 ปี

President Donald Trump steps off Air Force One after arriving at Andrews Air Force Base, Thursday, Sept. 26, 2019, in Andrews Air Force Base, Md. (AP Photo/Evan Vucci)

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามพูดมาโดยตลอดว่า การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนทำให้สหรัฐมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้นทุกเดือน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างเพื่อปกป้องการกระทำของรัฐบาลในการทำสงครามการค้ากับจีน และพยายามไม่รับรู้ผลเสียอีกด้านที่จะมีต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภคสหรัฐ แต่ล่าสุดดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐสะท้อนชัดเจนถึงพิษของสงครามการค้าหลังจากสถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีภาคการผลิตเดือนกันยายนอยู่ที่ 47.8% ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ข้อมูลของ ISM ระบุด้วยว่า ดัชนีคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกเดือนกันยายนอยู่ที่ 41% ต่ำสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยต่ำกว่าเดือนสิงหาคมซึ่งอยู่ที่ 43.3% ทั้งนี้ ทิโมธี ฟิโอเร ประธาน ISM ระบุในแถลงการณ์ว่า การค้าโลกยังคงเป็นปัญหามากที่สุด เห็นได้จากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่เพื่อส่งออกที่เริ่มหดตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ ส่วนการจ้างงานในภาคการผลิตอยู่ในระดับต่ำสุดเช่นกันนับจากเดือนมกราคม 2016 สาเหตุหลักมาจากความต้องการสินค้าลดลง

“ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งซื้อใหม่ คำสั่งซื้อที่เหลืออยู่ วัตถุดิบ สินค้าคงคลัง การส่งออก และนำเข้า ล้วนแต่หดตัวหมดในเดือนกันยายน” ประธาน ISM ระบุ

ดัชนีภาคการผลิตที่หดตัวหรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 50% เพิ่มความกลัวว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐวันอังคารที่ 1 ตุลาคม ดิ่งลง 343.04 จุด หรือ 1.28% การที่ดัชนีผลิตหดตัวมากขึ้นทุกขณะเป็นสัญญาณล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบหนักจากพิษสงครามการค้า ทั้งที่แต่เดิมภาคการผลิตเคยถูกมองว่าเป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์ เพราะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจมีความคึกคัก

ผู้บริหารกิจการอาหารและเครื่องดื่มรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การขึ้นภาษีสินค้าจากจีนกำลังทำร้ายเศรษฐกิจของบริษัทเรา เพราะว่าวัตถุดิบส่วนใหญ่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ แต่ผลิตในจีนเท่านั้น ส่วนผู้บริหารสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กล่าวเช่นกันว่า เศรษฐกิจดูเหมือนอ่อนแอลง การเก็บภาษีจีนสร้างความสับสนอย่างมากให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ ชี้ว่า ยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะหยุดการชะลอตัว ตอนนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยเป็นจริงขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ยอมรับว่าสงครามการค้าเป็นสาเหตุ โดยได้ทวีตข้อความตำหนิว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นต้นเหตุ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไป ส่งผลเสียต่อภาคการผลิต ทั้งนี้ ทุกครั้งที่ดัชนีเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นปรับตัวลง ทรัมป์มักจะโยนบาปให้เฟดเสมอ

สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐสอดคล้องกับท่าทีขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ล่าสุดได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการค้าโลกปีนี้ลงเหลือ 1.2% จากเดิม 2.6% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี พร้อมกับหั่นประมาณการอัตราเติบโตเศรษฐกิจโลกลงจาก 2.6% เหลือ 2.3% สาเหตุหลักเกิดจากอัตราการเติบโตของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ชะลอลง สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือเบร็กซิตที่ยังคงยืดเยื้อ

ดับเบิลยูทีโอ ระบุว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้การค้าเติบโตเพียง 0.6% ลดลงอย่างมากจากปีก่อนหน้านี้ และหากเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอย่างสูงในบรรยากาศการค้าโลก การขยายตัวของการค้าโลกสิ้นปีนี้อาจเหลือแค่ 0.5% “แนวโน้มการค้าค่อนข้างมืดมน การแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศสมาชิกเป็นหนทางที่จะหลีกเลี่ยงความมืดมนนั้น”


ความหวังในทางบวกของการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มริบหรี่ลงอีกครั้งเมื่อมีข่าวแพร่ออกมาว่า สหรัฐเตรียมจะห้ามหรือจำกัดการลงทุนของบริษัทอเมริกันในจีน และจำกัดการลงทุนของจีนในสหรัฐ รวมทั้งอาจพิจารณาถอดบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ ทั้งที่ในวันที่ 10-11 ตุลาคม สองฝ่ายมีกำหนดเจรจาการค้ากันอีกรอบ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแท็กติกในการเจรจาของสหรัฐเพื่อหวังกดดันจีนแต่เป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีก่อนการเจรจา