“เขตเมือง” ในเอเชียขยายตัว ปัญหาใหญ่ “ราคาบ้าน” สูงแซงรายได้

แนวโน้มการขยายตัวของ “เขตเมือง” (urbanization) ของชาติกำลังพัฒนาในเอเชียถือว่ามีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดว่าภายในปี 2050 ประชากรในเอเชียโดยรวมจะหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเขตเมืองราว 64% ของจำนวนประชากรทั้งภูมิภาค

เอดีบีเปิดเผยรายงานเรื่อง “Fostering Growth and Inclusion in Asia”s Cities” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประจำปี Asian Development Outlook 2019 Update โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาแนวโน้มการขยายตัวของเขตเมืองในเอเชีย และการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ทั้งนี้ การเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักกับเมืองรอบ ๆ ซึ่งเอดีบีเรียกว่า “กลุ่มเมือง” (city clusters) จากข้อมูลในปี 2017 พบว่ามีกลุ่มเมืองเกิดขึ้น 124 แห่งในประเทศเอเชียกำลังพัฒนา โดยมีจำนวน 28 กลุ่มเมืองที่มีประชากรอาศัยเกิน 10 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในจีน 8 เมือง, อินเดีย 7 เมือง อินโดนีเซีย 3 เมือง เกาหลีใต้และเวียดนามประเทศละ 2 เมือง ส่วนประเทศที่มีกลุ่มเมืองเพียง 1 แห่ง ได้แก่ บังกลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และไทย

ซึ่งกลุ่มเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ “เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงมากถึง 53 เมืองเข้าด้วยกัน ภายใต้ 4 เขตการบริหารปกครองจังหวัด

รายงานล่าสุดนี้แสดงให้เห็นถึงความแออัดในหลายประเทศเอเชีย ซึ่งยังมีการจัดการขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นระบบและไม่เพียงพออย่าง มะนิลาของฟิลิปปินส์ กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ย่างกุ้งของเมียนมา และนิวเดลีของอินเดีย

ดังนั้นการวางแผนพัฒนาพื้นที่และเศรษฐกิจในระยะยาวจึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อรับมือการเติบโตที่มีแนวโน้มกระจุกตัวในเขตเมืองมากขึ้น โดยเอดีบีประเมินว่าประชากรที่อาศัยในเขตเมืองของเอเชียจะมีจำนวนสูงถึง 3,000 ล้านคนในปี 2050 หรือประมาณ 64% ของประชากรทั้งภูมิภาค เพิ่มขึ้นจาก 1,840 ล้านคนในปี 2017

“ยาซูยูกิ ซาวาดะ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าวว่า พื้นที่เขตเมืองของเอเชียมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่จำนวนแรงงานที่มากขึ้น การลงทุนด้านนวัตกรรม และการพัฒนาคน แต่การขยายตัวของเมืองได้ส่งผลเสียตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการจราจรติดขัดจากจำนวนประชากรที่หนาแน่น และราคาบ้านที่สูงเกินกว่ารายได้ ซึ่งการศึกษานี้ได้สำรวจใน 211 เมืองจาก 27 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย พบว่า 90% ของประชากรเมืองได้รับความเดือดร้อนจากราคาบ้านที่ไม่สอดคล้องกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน

ดังนั้นการจัดการกับโครงสร้างพื้นฐาน ลดความแออัดของพื้นที่อยู่อาศัย เพิ่มคุณภาพด้านการศึกษา และการดูแลสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูเพื่อให้เขตเมืองเหล่านั้นมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป

รายงานของเอดีบียังได้เสนอว่า สิ่งที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเขตเมืองและช่วยลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรปฏิบัติตามแนวทางหลัก4 ประการ ดังนี้

1) เขตเมืองควรมีระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งสำหรับการเดินทางในตัวเมือง และเชื่อมต่อไปยังเมืองโดยรอบ

2) มีการวางแผนการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างเหมาะสม และปรับระเบียบให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

3) เตรียมพร้อมด้านที่อยู่อาศัยให้มีราคาสมเหตุสมผลด้วยนโยบายภาครัฐ เช่น การเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับคนที่มีรายได้น้อย

และ 4) มีการประสานงานในทุกระดับ ทั้งระดับเมือง กลุ่มเมืองโดยรอบ ระดับภูมิภาค และประเทศ เพื่อการวางแผนระบบเมืองเชื่อมกับเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง กลุ่มเมืองจำเป็นต้องมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีราคาไม่แพง และมีประสิทธิภาพครอบคลุมตั้งแต่รถไฟ รถเมล์ การขนส่งร่วม รวมไปถึงรถโดยสารอื่น ๆ เช่น รถสองแถวขนาดเล็กและรถสามล้อ นอกจากนั้น รัฐบาลต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีที่ดินเพียงพอสำหรับการสร้างบ้านที่มีราคาสมเหตุสมผล