“WMS Asia 2019” เปิดตัวดัชนี “BWi” เน้นชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน การแสวงหากำไรสูงสุดอย่างเดียวอย่างเช่นในอดีตอาจไม่ใช่คำตอบของ “ภาคธุรกิจ” อีกต่อไป เนื่องจากทั่วโลกกำลังหันมาให้ความสำคัญ “ความยั่งยืน” ซึ่งความสำเร็จทางธุรกิจไม่ใช่เป้าหมายเดียวอีกต่อไป แต่ต้องคำนึงถึงประเด็นปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ร่วมกับ คอตเลอร์ อิมแพค จัดงาน “World Marketing Summit Asia 2019” (WMS) ครั้งแรกในประเทศไทย ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีการเปิดตัว “ดัชนีชี้วัดโลกที่ดีกว่า” (Better World Index) หรือ “BWi” เพื่อเป็นกรอบสำหรับพัฒนาองค์กรด้วย “การตลาด” โดยการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคม เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

การตลาดไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในอดีตเรื่องการตลาดเน้นอยู่แต่เฉพาะเรื่องธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วความคิดทางด้านการตลาดสามารถประยุกต์ไปสู่ด้านอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจ ด้านสังคม และด้านการเมือง

“กลุ่มประเทศเราจะต้องรู้จักใช้การตลาดในการทำให้ประเทศตนเองเป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับ เป็นที่จูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา” ดร.สมคิดกล่าว

ด้าน ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา มองว่า การตลางต้องมองไปไกลกว่าการแสวงหาผลกำไรสูงสุด ต้องไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อขายสินค้าและบริการ สร้างกำไรให้บริษัท แต่คือการสร้างภาพลักษณ์และสร้างความหมายหรือคุณค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ ไม่จำกัดแค่สินค้า แต่รวมไปถึงแบรนด์ บริษัทหรือโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ

หลักการของการตลาดจึงต้องคำนึงถึง 3P ได้แก่ Profit (ผลกำไร) People (ผู้คน) และ Planet (ผืนโลก)

ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา

ภาคธุรกิจช่วยลดความเลื่อมล้ำ

อีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังมุ่งมั่นในการแก้ไขคือ “ความเลื่อมล้ำในสังคม” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่สามารถกระจายรายได้ได้อย่างเท่าเทียม

ดร.สมคิดกล่าวว่า “ปัญหาของความเลื่อมล้ำในสังคม ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โลกจะมีปัญหาอย่างแน่นอนในวันข้างหน้า ความสับสนวุ่นวาย คนจนจะยิ่งจนลง เพราะว่า ทุนนิยมโดยหลักการก็คือ การสร้างความมั่งคั่ง แล้วก็กระจายความมั่งคั่งไปสู่ชนหมู่มาก แต่ปรากฎว่าทุนนิยมในทางปฏิบัติก็มาจบลงที่ว่าการสร้างความมั่งคั่ง แต่ไม่สามารถกระจายความมั่งคั่งได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ”

แต่การกระจายรายซึ่งเป็นทางออกสำคัญสำหรับปัญหาความเลื่อมล้ำมักถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงภาคธุรกิจสามารถช่วยลดความเลื่อมล้ำได้ ด้วยการกระจายรายได้และประโยชน์ไปสู่สังคมมากขึ้น

ศ.คอตเลอร์ ชี้ว่า “ปัจจุบันยังมีข้อถกเถียงกันว่า แท้จริงแล้วใครเป็นผู้สร้างงาน ความคิดแบบเดิมคือภาคธุรกิจเป็นผู้ลงทุนทำให้เกิดการจ้างงานขึ้น ดังนั้นบริษัทจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อลดต้นทุนลงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงานราคาถูก การหาซับพลายเออร์ที่ถูกที่สุด และขายสินค้าราคาแพง แต่ถ้าลูกจ้างมีรายได้น้อยก็ไม่มีเงินซื้อสินค้าราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคก็จะลดลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีกำไรและรายได้ลดลงไปด้วย ก็นำไปสู่การจ้างงานที่ลดลงด้วย”

ดังนั้น ศ.คอตเลอร์จึงเสนอว่า บริษัทควรจะต้องหันมากระจายประโยชน์ไปยังสังคมมากขึ้น โดยไม่คำนึงเฉพาะประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลดีกลับมายังธุรกิจของตนเอง และภาคธุรกิจยังต้องทำงานประสานกับหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้บริโภค รวมถึงผู้ถือหุ้นในฐานะ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” เพื่อสร้างแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

นายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด

การตลาดต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน

“ความยั่งยืน” เป็นอีกกระแสหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญและต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ ดังนั้นภาคธุรกิจควรต้องหันมาสนใจในการแก้ปัญหาเหล่านี้

ดร.สมคิดชี้ว่า “กลุ่มธุรกิจซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยได้สนใจสิ่งเหล่านี้นักก็ตระหนักว่า ในอนาคตข้างหน้า สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่งควรจะอยู่ในดีเอ็นเอของนักธุรกิจด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเราสามารถร่วมกันทำในสิ่งที่ดี โลกดีได้ บริษัทเหล่านั้นก็สามารถเป็นที่ยอมรับของสังคม สร้างความภักดีของผู้บริโภค (consumer loyalty) ประสิทธิภาพ (efficiency) และอีกหลายอย่างที่ทำให้บริษัทดีขึ้น”

ด้านนายปิยะชาติ อิศรภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ระบุเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจเป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้นภาคธุรกิจควรจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างความยั่งยืน ด้วยการสร้างเป้าหมายร่วมกับทุกภาคส่วน ยืนเคียงข้างและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม มากกว่าที่จะเพียงสร้างรายได้สูงสุด

“วันนี้ความยั่งยืนไม่น่าจะเป็นตัวเลือกในการดำเนินธุรกิจ แต่น่าจะเป็นไฟต์บังคับในการดำเนินธุรกิจ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความยั่งยืนจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ไม่ได้เรียกร้องให้ธุรกิจทำจนลืมบทบาทของธุรกิจเอง แต่ก็ไม่ได้อยู่ในบทบาทของธุรกิจเองจนลืมไปว่าศักยภาพที่มีควรจะใช้ไปเพื่อประโยชน์ใด” นายปิยะชาติกล่าว

ดัชนีชี้วัดโลกที่ดีกว่า

ในส่วนของ “ดัชนีชี้วัดโลกที่ดีกว่า” หรือ “BWi” เป็นดัชนีที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ศ.ฟิลิป คอตเลอร์ กับบริษัท แบรนดิ เพื่อเป็นเครื่องมือในชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจ โดยการยกระดับการชี้วัดจากปัจจัยเดียวไปสู่การชี้วัดจากหลายปัจจัย

ศ.คอตเลอร์ระบุว่า ปัจจุบันดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักของโลกคือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่จุดอ่อนของ GDP คือการบ่งชี้ได้เฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งอาจไม่ได้มาจากปัจจัยที่ดีก็ได้

“การขยายตัวขึ้นของ GDP ในสหรัฐอาจมาจากการค้าอาวุธมากขึ้น ประชาชนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น หรือการขายยารักษาโรคในราคาสูงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ GDP โตได้ แต่ไม่ได้ชี้วัดผลดีผลเสียต่อสังคม ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศริเริ่มคิดค้นดัชนีหลายชนิดเพื่อชี้วัดความสำเร็จด้วยปัจจัยอื่นอื่นอย่าง ดัชนีชี้วัดความสุข (GNH) ที่ริเริ่มโดยภูฏาน หรือ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) เป็นต้น” ศ. คอตเลอร์กล่าว

BWi จึงจะเป็นดัชนีที่ใช้ปัจจัยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวชี้วัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับภาคธุรกิจในการเชื่อมโยงความสำเร็จผ่านการร่วมมือทั้งจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


“ยุทธศาสตร์การเติบโตในอนาคตข้างหน้าคงไม่ใช่แนวคิดที่ว่าเราได้แล้วคุณจะต้องเสีย แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องมาร่วมกันมีส่วนร่วมในการทำให้โลกนั้นดีขึ้น” ดร.สมคิดกล่าว