ดัชนีบะหมี่ และ โกลเด้นวีก ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้า

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย นงนุช สิงหเดชะ

แต่ไหนแต่ไรมายอดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารราคาถูกของมนุษย์ธรรมดาถือเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจของหลายประเทศอย่างไม่เป็นทางการ แม้แต่ประเทศไทยยอดขายบะหมี่ก็ถือว่าชี้วัดภาวะเศรษฐกิจได้ล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอการคำนวณหรือคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ปีไหนบะหมี่ขายดีผิดหูผิดตาแสดงว่าคนไม่มีเงินหรือจนลง ถ้าปีไหนขายได้น้อยแสดงว่าคนมีเงิน จึงสามารถไปหาซื้ออาหารที่หรูหรากว่านี้ได้

สำหรับในประเทศจีนที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากที่สุดในโลก (วัดจากจำนวนชิ้น) ยอดจำหน่ายที่กลับมาดีดตัวพุ่งขึ้นกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าหมายถึงชาวจีนใช้จ่ายน้อยลงเพราะกังวลปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ โดยเฉพาะในห้วงที่เกิดปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ดำเนินมานานและมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาด

ในช่วง 40 ปีมานี้ ความนิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัมพันธ์กับความเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของจีน ยอดขายบะหมี่เพิ่มขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกับจำนวนคนงานในภาคอุตสาหกรรม จากนั้นเมื่อจำนวนคนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ยอดขายบะหมี่ก็เริ่มลดลงเพราะคนมีเงินมากพอที่จะซื้ออาหารราคาสูง

ตามข้อมูลของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก หากดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ยอดขายบะหมี่ในจีนปี 2014 อยู่ที่ 4.44 หมื่นล้านชิ้น จากนั้นได้ลดลงมาเรื่อย ๆ เหลือ 4.04 หมื่นล้านชิ้น ในปี 2015 และ 3.85 หมื่นล้านชิ้นในปี 2016 ส่วนปี 2017 อยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านชิ้น

อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 2018 กลับปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.03 หมื่นล้านชิ้น จุดนี้เองคือประเด็นที่ถกเถียงกันว่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีใช่หรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าปีนี้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากบะหมี่แล้วยอดขายรถยนต์ก็เป็นดัชนีเศรษฐกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยเดือนสิงหาคมยอดขายรถยนต์ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 ซึ่งนักวิเคราะห์ระบุว่านี่คือตัวบ่งชี้ว่ารายได้ของประชาชนเติบโตน้อยลง มีหนี้สูงขึ้น และมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคต ซึ่งเต๋า ตง กรรมการผู้จัดการเครดิตสวิส เอเชีย-แปซิฟิก ชี้ว่า ยอดขายสินค้าหรูหราอย่างรถยนต์ลดลง แต่สินค้าราคาถูกอย่างบะหมี่กลับเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าประชาชนลดเกรดการบริโภคลง การที่ยอดขายบะหมี่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นเพราะมีการอัพเกรดผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม สื่อของจีนอย่างพีเพิล”ส์ เดลี่ พยายามปกป้องและแก้ต่างว่า ยอดขายบะหมี่ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนลดการใช้จ่าย แต่เป็นเพราะผู้ผลิตประสบความสำเร็จในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ด้วยการออกเวอร์ชั่นที่มีราคาสูงกว่าเดิม ดังนั้น ก็หมายความว่าประชาชนอัพเกรดการบริโภค

ทางด้าน ถิงยี่ โฮลดิ้ง ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใหญ่ที่สุดในจีน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ว่า ช่วงครึ่งแรกของปีมูลค่าจำหน่ายบะหมี่อยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.68 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้วยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ มีราคาเฉลี่ยชิ้นละ 24 หยวน สูงกว่าราคาบะหมี่เนื้อ 1 ชามในร้านอาหารของบางเมืองในจีน

ถัดจากยอดขายบะหมี่ก็เป็นจำนวนชาวจีนที่ออกท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติ ที่เรียกว่า “โกลเด้นวีก” ที่บรรดาภาคธุรกิจทั้งในและนอกจีนตั้งตารอคอยในแต่ละปี เพราะกิตติศัพท์การใช้จ่ายอย่างหนักมือของชาวจีนในช่วงนี้ ซึ่งตามข้อมูลทางการจีน บอกว่า ปีนี้จำนวนชาวจีนที่เลือกท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 782 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.8 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ส่วนจำนวนผู้ออกไปเที่ยวนอกประเทศอยู่ที่ 7 ล้านคน

ทางการจีนพยายามชี้แจงว่า แม้จำนวนชาวจีนที่ท่องเที่ยวอยู่ในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี และอ้างว่าสาเหตุเป็นเพราะปีก่อน ๆ นั้นชาวจีนออกไปช็อปปิ้ง นอกประเทศมากพอแล้ว ปีนี้พวกเขาอยากผ่อนคลายไม่อยากออกไปตามล่าซื้อสิ่งของอย่างกระดาษรองนั่งชักโครก ยาแก้ไอหรือหม้อหุงข้าวอีกแล้ว


ไม่ว่าทางการจีนจะอ้างเหตุผลใด แต่ก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจ โดยตามคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า ไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะชะลอลงสู่ 6 เปอร์เซ็นต์