“ประท้วงชิลี” วุ่นหนักปมเหลื่อมล้ำสูง รัฐบาลเคอร์ฟิว 3 วันติด

REUTERS/Ivan Alvarado

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานสถานการณ์การชุมนุมประท้วงใน “ชิลี” ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่คืนวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลยังคงต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงซานดิอาโก เมืองหลวงของชิลีต่อเนื่องมาเป็นเวลาสามวัน เนื่องจากมีความรุนแรงมากขึ้น ห้างร้านถูกเผาและทุบทำลาย รวมถึงถูกปล้นทรัพย์สินภายในร้าน ขณะที่ระบบรถไฟใต้ดินระงับการให้บริการชั่วคราว เพื่อปิดกั้นผู้คนไม่ให้เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น

การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลชิลีประกาศเตรียมขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน นำมาซึ่งความไม่พอใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นราคาค่าโดยสารดังกล่าว ก่อนที่จะขยายประเด็นเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้เร่งแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพสูง และปัญหาหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าต่อมารัฐบาลชิลีจะตัดสินใจระงับการขึ้นราคาค่ารถไฟใต้ดินแล้วก็ตาม

AP Photo/Luis Hidalgo

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจของชิลีจะมีเสถียรภาพและนับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาใต้ แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ก็สูงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัยรุ่นและผู้หญิงที่ต้องต่อสู้อย่างหนัก เพื่อหางานที่มีคุณภาพและตรงตามทักษะของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายประเด็น ทั้งเรื่องระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ ระบบประกันสุขภาพ และการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า คุณภาพชีวิตของชาวชิลีดีขึ้นมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จนขณะนี้อัตราความยากจนลดลงต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา แต่ช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและคนที่ยากจนที่สุดยังคงสูงมาก นอกจากนี้ แรงงานชิลีราว 1 ใน 3 อยู่ในภาคงานที่ไม่เป็นทางการหรือไม่มีความมั่นคง

AP Photo/Miguel Arenas

การประท้วงในวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้หลายพันคนเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสพลาซ่าอิตาเลีย ใจกลางกรุงซานดิอาโก มีการตีกลองและเคาะกระทะ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี “เซบาสเตียน พิเนรา” ลงจากตำแหน่ง และยังมีการชุมนุมประท้วงขึ้นในอีกหลายเมืองของชิลีด้วย ซึ่งนับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วง มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย

ประธานาธิบดีพิเนราได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการใช้ความรุนแรง โดยกล่าวว่า “ความรุนแรงจะไม่ชนะ” พร้อมทั้งประกาศว่าจะพบปะหารือกับกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงฝ่านค้าน เพื่อหาทางออกจากวิกฤตของประเทศครั้งนี้

AP Photo/Miguel Arenas

ขณะที่นางมิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและอดีตประธานาธิบดีของชิลี เรียกร้องให้มีการเจรจากันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้มีสอบสวนอย่างอิสระต่อกรณีการเสียชีวิตและการบาดเจ็บของทั้งสองฝ่าย

“ขณะนี้มีข้อกล่าวหาว่ามีการความรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยและกองกำลังติดอาวุธ และดิฉันตกใจอย่างมากที่ได้รับรายงานว่า ผู้ถูกควบคุมตัวบางคนถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงทนายความ ซึ่งเป็นสิทธิที่พึงมีตามกฏหมาย และบางคนยังถูกทำร้ายในระหว่างการคุมขัง” บาเชเลกล่าว ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของชิลีระบุว่า ขณะนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวแล้ว 1,906 คน

AP Photo/Esteban Felix

ในสถานการณ์ความวุ่นวายนี้ หลายสายการบินได้ยกเลิกเที่ยวบินไปยังชิลีแล้ว ขณะที่บางประเทศอย่าง เกาหลีใต้ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนระงับการเดินทางไปยังชิลี ส่วนพลเมืองที่อยู่ในชิลีใช้ความระมัดระวังมากขึ้นด้วย

หลายฝ่ายยังจับตามองด้วยว่า การประท้วงครั้งนี้จะกระทบต่อการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย‑แปซิฟิก (APEC) ที่จะมีการพบกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐและประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของระหว่างวันที่ 11-17 พ.ย. ที่จะถึงนี้หรือไม่