Brexit พ่นพิษยาว “อังกฤษ” เศรษฐกิจอ่วม แม้ปอนด์แข็งค่า

นับจากที่เกิดวิกฤต “เบร็กซิต” ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่า “เงินปอนด์” อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์ส่งสัญญาณแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.3208 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3079 ดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจภาพรวมของสหราชอาณาจักร (UK) ยังถือว่าอยู่ในจุดที่ตกต่ำมากที่สุด อีกทั้งทิศทางการฟื้นฟูประเทศหลังจากเข้าสู่กระบวนการ “เบร็กซิต” ก็ยังไม่ชัดเจน

ไฟแนนเชียลไทมส์ แอดไวเซอร์ รายงานว่า หอการค้าอังกฤษ (BCC) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรปีนี้ จาก 1.5% เป็น 1.6% ด้วยอานิสงส์มาจากการค้าการลงทุนของปีที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางส่งออกที่เป็นบวกเล็กน้อยจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น แต่ในปี 2018-2019 เศรษฐกิจของ UK จะเริ่มได้รับผลกระทบจาก “เบร็กซิต” แบบเต็ม ๆ และคาดว่าปี 2018 เศรษฐกิจอังกฤษจะเติบโต 1.2% ลดลงจากที่คาดไว้ 1.3% และปี 2019 จะเติบโต 1.4% ลดลงจาก 1.5% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มแตะ 3% ในช่วงสิ้นปี ปรับขึ้นจากที่ธนาคารกลางอังกฤษเคยคาดการณ์ว่าจะแตะสูงสุดที่ 2.8% ในปีหน้า ซึ่งทิศทางของเงินเฟ้อส่งสัญญาณน่ากังวลขึ้นนับตั้งแต่ที่ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งแตะ 2.3% ในเดือน ก.พ.เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2%

จากผลสำรวจผู้บริโภคในอังกฤษ 2,000 คน ของบริษัทวิจัย UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าแนวโน้มการใช้จ่ายเงินของคนอังกฤษกังวลกับสถานะทางการเงินและรายได้ เพราะเงินที่ต้องจ่ายมากขึ้นกับปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้านอาหาร หรือสาธารณูปโภค และธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบคือ “ค้าปลีก”

โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้า เพราะผู้คนไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย แม้ว่าหอการค้าอังกฤษเชื่อว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชนยังคงเท่าเดิม

แต่ปัญหาที่น่ากลุ้มมากกว่า คือ ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นที่จะเป็นภาระของผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ

และอีกหนึ่งปัญหาก็คือ นายจ้างอาจลดจำนวนแรงงานลง หรือตัดทอนสวัสดิการบางอย่างออกมากกว่าจะลดค่าตอบแทน ขณะที่อุณหภูมิความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ทวีคูณ อีกด้านภาคธุรกิจก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตั้งแต่แรงงานหัวกะทิจนถึงแรงงานไม่มีทักษะ เนื่องจากกลุ่มแรงงานตัดสินใจย้ายออกนอกประเทศ

ตัวอย่างร้านอาหารอินเดียหลายแห่งในกรุงลอนดอนที่เริ่มทยอยปิดตัวตั้งแต่ต้นปี เพราะปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้ว่าจะหันไปจ้างแรงงานจากแถบยุโรปตะวันออก แต่เนื่องจากข้อตกลงระหว่าง UK และสหภาพยุโรป (EU) ที่ยังไม่แน่นอน จึงทำให้เกิดความไม่มั่นคงในการจ้างงาน

 

ไม่เพียงเท่านั้น สมาพันธ์จัดหางานและจ้างงาน (REC) ในอังกฤษ เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของนายจ้างในอังกฤษ 601 บริษัท พบว่าเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าความเชื่อมั่น “ติดลบ” เป็น -3% จาก 6% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ 31% เชื่อว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะเลวร้ายลงหลังจากเบร็กซิต ส่วน 28% เชื่อว่าเศรษฐกิจจะได้รับการฟื้นฟูดีขึ้น และมีเพียง 1 ใน 5 ที่มีแผนจะจ้างงานใน 3 เดือนข้างหน้า ส่วนนายจ้างที่ยังจ้างงานและต้องการลงทุนในอังกฤษมีเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดจากที่เคยสำรวจตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปี 2016

นอกจากนี้ ดัชนีราคาบ้านในอังกฤษปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยผลสำรวจระบุว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ราคาบ้านปรับลดลง 0.2% (เดือน มี.ค.ลดลง0.3% และ เม.ย.ลดลง 0.4%)

นักวิเคราะห์วงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า “ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษได้รับผลกระทบจากเบร็กซิตตั้งแต่ปีก่อน และคาดว่าจะกระทบในระยะยาวจนกว่าทิศทางการถอนตัวจาก EU จะชัดเจนขึ้น นั่นหมายความว่านโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจะเชื่อมั่นได้มากขึ้น”

นายอดัม มาร์แชลล์ ผู้อำนวยการทั่วไปของ BCC กล่าวว่า ในความเป็นจริงเศรษฐกิจของ UK กำลังย่ำอยู่กับที่ หรืออาจถดถอยมากกว่าที่คาดคิดใน 2-3 ปีข้างหน้า

แม้อานิสงส์จากเงินปอนด์ที่แข็งค่าเล็กน้อยกับภาคส่งออกที่ดีขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่อาจทำให้เกิดสมดุลในการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนในอังกฤษ เนื่องจากการเจรจาของ UK และ EU ที่เกิดขึ้น 3 รอบแล้วยังไม่มีวี่แววความคืบหน้า เพราะคณะเจรจาสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญ

ความพยายามของ “เทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่พยายามเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ เพื่อชดเชยผลประโยชน์ที่เคยได้จาก EU ทั้งยังบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมาอยู่ 15% จากปัจจุบัน 20% เพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ปัจจัยความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นรอบด้าน

ตอนนี้อาจไม่ใช่เวลาแห่งการฟื้นฟู แต่เป็นการประคองเศรษฐกิจไม่ให้จมดิ่งมากกว่าเดิมน่าจะดีต่อสมาชิกมากกว่า