งานใหม่ “แจ็ก หม่า” ปั้น “ฮีโร่” ในแอฟริกา

หลังจาก “แจ็ก หม่า” อำลาตำแหน่งประธานบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป อย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา และส่งไม้ต่อให้กับ “แดเนียล จาง” รองประธานวัย 43 ปี ขึ้นนั่งเก้าอี้เป็นประธาน ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้ตั้งใจจะเดินตามอีกหนึ่งความฝันทำงานด้านการกุศล รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ตามรอย “บิลล์ เกตส์” มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ บุคคลที่ชื่นชมมาโดยตลอด

“ไชน่า เดลี่” รายงานว่า บนเวทีการประชุม Forbes Global CEO Conference 2019 ระหว่างวันที่ 15-16 ต.ค.ที่ผ่านมา จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นครั้งแรกที่ “แจ็ก หม่า” เปิดเผยถึงแผนชีวิตหลังเกษียณ โดยการพูดคุยบนเวทีกับ “สตีฟ ฟอร์บส” ประธานและบรรณาธิการใหญ่ของฟอร์บส มีเดีย โดยระบุว่า ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะลงมือทำเร็ว ๆ นี้ ก็คือ “การศึกษา”

แจ็ก หม่า อธิบายถึงระบบการศึกษาที่ตนเองวาดฝันไว้ว่า ทั้งวิธีการสอน และผลลัพธ์จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างที่ดีกว่าระบบการศึกษาแบบเดิม ๆ และที่สำคัญ จะต้องสร้างพลังอำนาจให้แก่ผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ

“ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังคงเป็นสไตล์การศึกษาแบบเก่า ที่เน้นการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ยุคอุตสาหกรรม โดยเด็กนักเรียนได้รับความรู้ต่าง ๆ จากตำราเรียนภายในห้องเรียนเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น เด็กอายุน้อย ๆ เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเองและป้อนความรู้ใหม่ ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต”

นายแจ็ก หม่า ยังได้กล่าวถึงการเรียนรู้ของเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถประมวลผลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลข่าวสาร, การจดจำ และการคำนวณ ได้เร็วและดีกว่ามนุษย์ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้จึงให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาอย่างมาก

“เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดในยุค AI เราต้องปรับปรุงอะไรอีกเยอะ เช่น ระบบการศึกษา ที่ต้องเปลี่ยนแปลง
เนื้อหาที่สอนและรูปแบบการสอน เน้นให้เด็ก ๆ เป็นนักคิดได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักสร้างนวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลงาน” แจ็ก หม่าย้ำและว่า

“คุณไม่มีทางเรียนรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ได้จากห้องเรียน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ได้จากข้างนอกจากการผ่านชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งในห้องเรียนคุณจะได้รับเพียงความรู้เท่านั้น แต่ประสบการณ์จะมาจากการใช้ชีวิต”

แจ็ก หม่าวางแผนว่า ในปี 2020 จะเริ่มเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ เริ่มจากในแอฟริกา เพื่อเรียนรู้ระบบการศึกษาต่าง ๆ เพื่อปรับโมเดลการเรียนการสอนให้ทันสมัยขึ้น โดยตั้งใจว่าจะเพิ่มกรณีศึกษาของบริษัทต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า บริษัทเหล่านั้นล้มเหลวได้อย่างไร และมีวิธีรับมืออย่างไร นอกจากที่จะฉายภาพความสำเร็จของบริษัทเพียงด้านเดียว

“เมื่อเด็ก ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่เรียนรู้เรื่องราวของความสำเร็จมากเกินไป พวกเขาจะมองมุมเดียวว่า สามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจได้อย่างง่ายดาย แต่พวกเขาไม่มีวันรู้เลยว่า การเข้าสู่เส้นทางธุรกิจจะมีเพียงผู้รอดชีวิตเท่านั้นที่จะชนะในสมรภูมิรบนี้”

“แอฟริกา” ว่าเป็นทวีปแรก ๆ ที่เขาอยากจะสร้าง “วีรบุรุษ” ด้านธุรกิจ หรือเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพราะผู้ประกอบการคือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสังคม อันจะนำมาสู่การยกระดับประเทศในที่สุด

ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง “มูลนิธิแจ็กหม่า” นายหม่าตั้งใจจะเสริมสร้างภาคธุรกิจหรือเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการในแอฟริกา เหตุผลที่เขาเลือกแอฟริกาเพราะความประทับใจเมื่อครั้งเดินทางเยือนแอฟริกาเมื่อ 4 ปีก่อน “แจ็ก หม่า” กล่าวว่า เขาประทับใจในความเฉลียวฉลาดของบรรดาผู้ประกอบการหนุ่มสาวชาวแอฟริกัน รวมถึงวัฒนธรรม mo-bile-first ซึ่งเป็นหลักความคิดและการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับโทรศัพท์มือถือทั้งหมด

“ผมจะทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในแอฟริกาให้แข็งแกร่ง และเชื่อว่าในอนาคต เราจะค้นพบ แจ็ก หม่า, บิลล์ เกตส์, วอร์เรน บัฟเฟตส์ และสตีฟ จ็อบส์ในแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น”

แจ็ก หม่ายืนยันว่า ผู้ประกอบการในแอฟริกาไม่เหมือนกับผู้ประกอบการในประเทศอื่น ที่ส่วนใหญ่จะมองเป้าหมายแค่การนำเอาบริษัทเพื่อเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชน (IPO) แต่ผู้ประกอบการแอฟริกันสะท้อนวิสัยทัศน์ให้ผมเห็นว่า พวกเขาต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแอฟริกา และยกระดับชีวิตให้ดีขึ้นจริง ๆ

พร้อมกันนี้ เขาได้เสนอแนะเกี่ยวกับแอฟริกาว่า ประเทศแอฟริกาจำเป็นจะต้องมี 3 E ได้แก่ 1.e-Government หรือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความโปร่งใสในระบบราชการ 2.entrepreneurs หรือผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่ มีส่วนช่วยเหลือและพัฒนาประเทศ และ 3.education หรือการศึกษา ประชาชนต้องตระหนักได้ว่าพวกเขาต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร

“นี่คือสิ่งที่ตั้งใจทำในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือและทำอะไรบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ในแอฟริกา ซึ่งมันอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ แต่อย่างน้อยผมก็ได้พยายามอย่างที่สุดแล้ว ที่แห่งนี้คือที่ที่ผมต้องการจะไป และเชื่อว่าในวันข้างหน้าจะมีนักธุรกิจจีนนับแสนคน จัดตั้งองค์กรการกุศลหรือมูลนิธิ ดังนั้นเราจะต้องปูทางเอาไว้ก่อน ผมจะเป็นคนนั้นที่ช่วยทดลองเรื่องนี้ และแชร์ประสบการณ์ รวมถึงข้อผิดพลาดต่าง ๆ” ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากล่าว