ดัชนี Doing Business 2020 ชี้ 5 ประเทศเอเชียตะวันออกแปซิฟิกติด Top 25 โลก

“ธนาคารโลก” (World Bank) เปิดตัวรายงาน Doing Business 2020 ซึ่งเป็นการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศทั่วโลก โดยระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจหลากหลายด้าน

โดยมี 5 ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ติดใน 25 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2 ได้คะแนน 86.2 คะแนน เขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีนอยู่ในอันดับที่ 3 ได้คะแนน 85.3 คะแนน มาเลเซียในอันดับที่ 12 ได้คะแนน 81.5 คะแนน ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 15 ได้คะแนน 80.9 คะแนน และไทยที่อยู่ในอันดับที่ 21 ได้คะแนน 80.1 คะแนน

ดร.เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยระบุว่า ธนาคารโลกได้ทำการสำรวจข้อมูลอย่างเป็นอิสระและรอบด้าน ขณะเดียวกันก็สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐทั้งในแง่ของการรวบรวมข้อมูล และการให้ปรึกษาเพื่อการพัฒนาปฏิรูปอีกด้วย

จีนปฏิรูปก้าวกระโดด

รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการใช้มาตรการปฏิรูป เพื่อสร้างสภาพแวดล้ามที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะจีนที่ติดในกลุ่มประเทศ 10 อันดับแรกของโลกที่มีการพัฒนาโดดเด่นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และยังเป็นประเทศที่มีการดำเนินการปฏิรูปมากที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยดัชนี Doing Business 2020 ระบุว่า จีนอยู่ในอันดับที่ 31 โดยได้รับคะแนน 77.9 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 74.0 คะแนนในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้มีการปรับปรุงกฎระเบียบในหลากหลายด้านโดยมีมาตรการปฏิรูปมากถึง 8 มาตรการ อย่างการลดข้อกำหนดและระยะเวลาในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ลดขั้นตอนการขอใช้น้ำและท่อน้ำทิ้ง ปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีศุลกากรที่เหมาะสมและโปร่งใส กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพตรววจสอบทางเทคนิกที่ช่วงสร้างความปลอดภัยให้ภาคธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างท่าเรือด้วย

อาเซียนยังมุ่งมั่นปฏิรูป

ขณะที่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนต่างก็มีการปฏิรูปในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจด้วย อย่างเช่น อินโดนีเซีย ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อลดความยุ่งยากของระบบราชการ ในการยื่นเอกสารและการชำระภาษี นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการจัดการคดีความทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้พิพากษา รวมถึงการปรับปรุงการส่งออกสินค้าด้วยระบบออนไลน์ ทำให้กระบวนการส่งออกสินค้าลดลง 63 ชม. เหลือเพียง 56 ชม. ทั้งนี้อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับที่ 73 ของโลกด้วยคะแนน 69.6 คะแนน

ขณะที่ เมียนมา ก็เริ่มมีการปรับปรุงระบบการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีการนำระบบออนไลน์มาใช้งานกับการจดทะเบียนนิติบุคคล รวมถึงลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจอีกด้วย โดยเมียนมาได้คะแนน 46.8 คะแนนอยู่ในลำดับที่ 165

ส่วน ฟิลิปปินส์ ยังคงดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยกเลิกข้อกำหนดเงินทุนขั้นต่ำของบริษัทภายในประเทศ และลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนในการขอใบอนุญาตครอบครอง โดยฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 95 และได้รับคะแนน 62.8 คะแนน ขณะที่ บรูไนดารุสซาลามซึ่งอยู่ในอันดับที่ 66 ดัวยคะแนน 70.1 คะแนนก็มีการปฏิรูปที่โดดเด่นในด้านระบบศาลชั้นกลางด้วย

นอกจากนี้ยังมี สปป.ลาวได้มีการปรับปรุงระบบการขอใช้ไฟฟ้าให้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ สปป.ลาวได้คะแนน 50.8 คะแนนและอยู่ในลำดับที่ 154 ส่วน เวียดนามอยู่ลำดับที่ 70 ด้วยคะแนน 69.8 คะแนน จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการชำระภาษีอีกด้วย

ไทยพุ่ง 6 อันดับ เฉียด Top 20 ของโลก

ในส่วนของไทยมีการปฏิรูปมากขึ้นโดยได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 80.1 คะแนนจาก 79.5 คะแนนในปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลกจากอันดับที่ 27 ในปีที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ด้าน นางสาวจอยซ์ แอนโทน อับบราฮิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาคเอกชน ธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาได้อย่างน่าประทับใจ โดยสามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก โดยสาเหตุหลักมาจากการพัฒนาที่โดดเด่น ได้แก่ การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย ด้านการขอใช้ไฟฟ้า และด้านการขออนุญาตก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเปรียบเทียบเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนา ซึ่งมีการวิจัยของธนาคารอาจมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยและระเบียบวิธีในการวิจัยที่ต่างออกไปในแต่ละปี ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจจคือระดับคะแนน ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนความสามารถที่แท้จริงของแต่ละประเทศได้


ด้าน นายปรกณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุว่า ไทยได้ปรับปรุงพัฒนาในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการลดระยะเวลาในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลออนไลน์ให้สามารถเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้ และนอกจากนี้ยังคงต้องปรับปรุงในด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง