เศรษฐกิจฮ่องกง “วิกฤต” สุดในรอบ 10 ปี เซ่นผลกระทบการเมืองและสงครามการค้า

รอยเตอร์ส รายงานว่า ในวันนี้ (1 พ.ย.62) เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากสาเหตุการชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ยืดเยื้อกว่า 5 เดือนและทวีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อภาคการค้าและบริการในประเทศ รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสองมหาอำนาจ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงติดลบติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส

จากการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (31 ต.ค.62) พบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 3/2019 ติดลบ 3.2% จากไตรมาสที่ผ่านมาเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่เศรษฐกิจฮ่องกงติดลบ 0.5% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2008

ในแถลงการณ์ของรัฐบาลฮ่องกง ระบุด้วยว่า “การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงกำลังบ่อนทำลายธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหารและจัดเลี้ยง รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน โดยพบว่าการบริโภคของภาคเอกชนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี”

นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ยังส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยวของฮ่องกงซึ่งเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมไปถึงการบริการขนส่งสินค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยฮ่องกงนับว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางเรือที่สำคัญของโลก

ขณะที่ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกได้ลดลง 25.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 40% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2018 นับว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีสัดส่วน 77.5% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ลดลงราว 42.3%

นอกจากนี้ งานวิจัยของ แคปปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) บริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงยังถูกจำกัดด้วยการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ ซึ่งเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก โดยในรายงานได้คาดการณ์ว่า “ฮ่องกงอาจจะเผชิญกับภาวะถดถอยติดต่อกันในไตรมาส 4 ของปีนี้”

ฮ่องกงกำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองขั้นรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลต่อภาคธุรกิจการค้าและการบริการของประเทศ โดยเศรษฐกิจฮ่องกงต้องหยุดชะงักลงจากความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ร้านค้าและบริการต่างๆ ต้องปิดตัวลง ทั้งยังพบว่าธุรกิจหลายแห่งในฮ่องกงร้องขอให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว และจะไม่ได้รับค่าแรงเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่หลีกเลี่ยงพื้นที่บริเวณแหล่งช้อปปิ้งและห้างสรรพสินค้า

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยจะช่วยเหลือภาคธุรกิจตั้งแต่ อุตสาหกรรมค้าปลีก การท่องเที่ยว และคมนาคม นอกจากนี้รัฐบาลยังเรียกร้องให้มีการลดค่าเช่าที่ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วงอีกด้วย

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่น่าสนใจ โดยนายพอล ชาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ก่อน เช่น มาตรการเงินอุดหนุนค่าเชื้อเพลิงกับรถแท๊กซี่และมินิบัสเป็นเวลา 6 เดือน มูลค่ากว่า 1,370 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และการขยายขอบเขตการช่วยเหลือ นอกจากนโยบายการลดค่าเช่าที่ให้กับร้านค้าต่างๆ ร้านอาหาร และยังมีลดค่าที่จอดรถ ต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งก่อน ที่ตั้งงบช่วยเหลือมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง