‘เฟด’ หั่น ดบ. 0.25% เอาใจตลาด ส่งสัญญาณรอบหน้าไม่ลดอีก

Traders work, as a screen shows Federal Reserve Chairman Jerome Powell's news conference after the U.S. Federal Reserve interest rates announcement, on the floor of the New York Stock Exchange (NYSE) in New York, U.S., October 30, 2019. REUTERS/Brendan McDermid

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ หากแต่เป็นไปตามความคาดหมายอย่างกว้างขวางของตลาด สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมติของเสียงส่วนใหญ่เห็นควรลดดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 1.5 ถึง 1.75% มีเพียงสองเสียงที่เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ทั้งนี้ เฟดให้เหตุผลการลดดอกเบี้ยว่า ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงแข็งแกร่ง นำโดย
การใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงาน แต่ทว่ายังถูกคุกคามจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมทั้งความไม่แน่นอนของอังกฤษในการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต

การตัดสินใจของเฟดในการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งนับเป็นรอบที่ 3 ของปีนี้ เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 1.9% ใกล้เคียงกับคาดหมายของทางการที่ระดับ 2% แต่สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่เชื่อว่าจะเติบโตเพียง 1.6% แต่ต่ำกว่าความต้องการส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการให้เติบโต 3%

ขณะที่การจ้างงานในช่วงไม่กี่เดือนมานี้แม้จะชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่า 109,000 รายต่อเดือน ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งกรรมการเสียงส่วนใหญ่เห็นควรรักษาอัตราการว่างงานไว้ที่ระดับนี้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า หลังจากนี้อาจหยุดการหั่นดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน เห็นได้จากถ้อยแถลงที่ระบุว่า เชื่อว่านโยบายการเงินในขณะนี้ดีอยู่แล้ว การที่เราลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอเพื่อเป็นการรับประกันว่าท่ามกลางความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกที่ดำเนินอยู่ เศรษฐกิจของสหรัฐจะยังเติบโตได้ ดังนั้น นโยบายการเงินที่เราใช้อยู่จึงมีความเหมาะสมแล้ว ตราบเท่าที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่เข้ามายังสอดคล้องกับมุมมองของเรา

นอกจากนี้ เฟดยังแสดงท่าทีว่าจะดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปจนถึงไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นอย่างน้อย แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณ หรือ QE แต่อย่างใด หากแต่เพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยของเฟดให้อยู่ในเป้าหมาย โดยเฟดได้กลับมาซื้อพันธบัตรอีกครั้ง ทำให้เดือนกันยายน งบดุลของเฟดขยายตัว 1 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ระดับงบดุลของเฟดกลับมาอยู่เหนือ
4 ล้านล้านดอลลาร์

ในส่วนของปัญหาการค้าที่ยืดเยื้อมา 16 เดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ประธานเฟดแสดงความหวังว่า สหรัฐและจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกได้ และเน้นย้ำว่าหากสามารถลดความตึงเครียดทางการค้าและลดความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน จะส่งผลดีต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจและกิจกรรมเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในคณะบริหารของรัฐบาลทรัมป์ระบุว่า สหรัฐและจีนอาจไม่สามารถเซ็นข้อตกลงการค้าระยะแรกได้ทันเวลาในการประชุมเอเปกที่ประเทศชิลีเดือนนี้ เนื่องจากสหรัฐเรียกร้องให้จีนแสดงคำมั่นในการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ทำให้การเจรจาติดขัด

ตลาดหุ้นสหรัฐตอบสนองในทางบวก โดยดัชนีดาวโจนส์ขยับขึ้น 115.27 จุด หรือ 0.4% ปิดที่ 27,186.69 จุด ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำสถิติสูงสุดใหม่ ปิดตลาดที่ 3,046.77 จุด เพิ่มขึ้น 0.3% โดยก่อนหน้าที่เฟดจะมีมติออกมา ตลาดซึมซับข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้ 93.5-100% ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10-11 ธันวาคม ตลาดเชื่อว่ามีความเป็นไปได้เพียง 25% ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย

ดรู เมทัส หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาด เม็ตไลฟ์ อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากเฟดจะลดดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่ใช่เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจบังคับให้ลด แต่เพราะต้องการให้สอดคล้องกับการรับรู้ของตลาด เฟดต้องการทำให้ตลาดและนักลงทุนอยู่ในความสงบและมีความสุขไปจนถึงสิ้นปี