
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวปาฐกถาในงานประชุมประจำปีของมูลนิธิโอบามา ที่นครชิคาโก จุดประเด็นคำถามต่อสังคมโดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวในยุคโซเชียลมีเดีย เพื่อปูทางไปสู่การหาเสียงของพรรคเดโมแครตในเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020
นายโอบามาชี้ว่า “สิ่งที่ผมเห็นสำหรับคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโซเชียลมีเดียมักคิดว่า วิธีการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นได้จากการตัดสินความผิดพลาดของผู้คนอื่นให้มากที่สุด”
- เจ้าหนี้ “สินมั่นคง” โหวตคว่ำแผนฟื้นฟู SMK ใช้สิทธิคัดค้านนับคะแนนใหม่
- นายกฯตั้งบอร์ดใหญ่คุมแจกเงิน 10,000 บาท ห้าง-โมเดิร์นเทรดรับอานิสงส์
- พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้ความรุนแรงเท่า “เตี้ยนหมู่” ระวังน้ำท่วมใหญ่
“การทวีตหรือแฮชแทกเกี่ยวกับความผิดพลาดของผู้อื่น เช่น การใช้คำกริยาผิด แม้ว่าจะให้ความรู้สึกที่ดีกับตัวเองจากการเป็นผู้ที่ตื่นรู้ แต่ว่านั่นไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โลกไม่ได้แบ่งเป็นสีขาวกับสีดำ แต่มีความซับซ้อนกว่านั้น ซึ่งบางครั้งคนดีก็ทำสิ่งที่ผิดพลาดได้” โอบามากล่าวเพิ่มเติม
การปาฐกถาของอดีตประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พรรคกำลังเฟ้นหาผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในการเลือกตั้งในปีหน้า โดยผู้ท้าชิงหลายคนของพรรคเดโมแครตต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความผิดพลาดของตนในอดีต เช่น “เคิร์สเตน กิลลิแบรนด์” เคยต้องเผชิญแรงกดดันจากการกล่าวถึงผู้อพยพว่าเป็น “คนต่างด้าวผิดกฎหมาย” จนต้องออกมาขอโทษในภายหลัง
ขณะที่ “พีท บูติเจิจ” เคยถูกสังคมตำหนิจากการกล่าววลีเจ้าปัญหา “ทุกชีวิตล้วนมีความสำคัญ” (All Lives Matter) ที่หยิบยกมาตอบโต้การรณรงค์เรียกร้องความเท่าเทียมของคนผิวสีในแคมเปญ “คนผิวสีมีความสำคัญ” (Black Lives Matter) จนต้องออกมาเอ่ยคำขอโทษด้วยเช่นกัน
รวมถึง “เอลิซาเบธ วาร์เรน” ก็เคยต้องกล่าวคำขอโทษ จากความพยายามใช้เชื้อสาย “ชนพื้นเมืองอเมริกัน” ในแคมเปญหาเสียงหาเสียงของเธอ เพื่อเป็นประธานาธิบดีสหรัฐเชื้อสายอเมริกันพื้นเมืองคนแรก ทำให้ถูกสังคมวิจารณ์ว่านำเรื่องชาติพันธุ์มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง