โฆษกรัฐบาลเผยสหรัฐรับพิจารณาข้อเสนอไทย คืนสิทธิจีเอสพี

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 3 พฤศจิกายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการหารือทวิภาคีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม กับนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐอเมริกา ว่า ครอบคลุมหลายประเด็น ขณะที่กรณีที่ทางการสหรัฐสั่งระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แก่สินค้าของไทย 573 รายการนั้น

นายกรัฐมนตรีระบุว่ารัฐบาลไทยเข้าใจดีว่าเป็นสิทธิที่ฝ่ายสหรัฐฯเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม เพียงแต่กระแสสังคมของไทยยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามชี้แจง เพราะไม่ต้องการให้เกิดบานปลายจนเป็นความขัดแย้ง ทั้งนี้นายกฯได้ฝากกับ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ในฐานะที่ไทยและสหรัฐฯมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน หวังว่าสหรัฐฯจะพิจารณาในประเด็นนี้ โดยเฉพาะมุมที่จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย และความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

นางนฤมลกล่าวต่อว่า ขณะที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯระบุว่าที่จริงมูลค่าในส่วนดังกล่าวเป็นจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งยังมีเวลาอีก 6 เดือน ก่อนที่จะมีผลบังคับ และสามารถทบทวนแก้ไขได้ โดยฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมจะสนับสนุนให้มีการหารือกับ รมว.พาณิชย์ของไทย ในการหาทางออกหรืออุทธรณ์สินค้าของไทยบางรายการ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีกลับคืนมา และบางรายการก็ได้รับคืนสิทธิกลับมาแล้ว รวมถึงยินดีรับฟังข้อมูลและข้อเสนอจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาคืนสิทธิให้กับสินค้าของไทยส่วนบรรยากาศเป็นไปด้วยดี ไม่มีความตึงเครียดใดๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้หารือถึงกรณีที่ไทยจะยกเลิกการใช้สารเคมีในภาคเกษตร รวมถึงสารไกลโฟเซตด้วยหรือไม่ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุย เมื่อถามอีกว่าได้หารือถึงกระแสข่าวที่ว่าสหรัฐฯจะให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงมาหารือด้วยหรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาเช่นกัน สิ่งที่พูดคุยกันมีแต่เรื่องการลงทุนด้านต่างๆ อาทิ ธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ มีความสนใจธุรกิจบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน ซึ่งสหรัฐฯมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ อีกทั้งยังฝากให้ไทยพิจารณาการสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่สหรัฐฯสนใจลงทุนธุรกิจด้านนวัตกรรม และอุตสาหกรรมยานยนต์และยุทธปกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เมื่อถามต่อว่าได้หารือถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวในไทยซึ่งสหรัฐฯห่วงใยในเรื่องนี้ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้หารือ และฝ่ายไทยก็ไม่ได้นำขึ้นมาพูดคุย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์