“ทรัมป์” เริ่มการถอนตัว จาก “ความตกลงปารีส” อ้างไม่เป็นธรรมกับชาวอเมริกัน

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเริ่มกระบวนการถอนตัวอย่างเป็นทางการของสหรัฐออกจาก ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ความตกลงปารีส” ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการถอนตัวนี้จะใช้เวลา 1 ปีโดยจะสิ้นสุดลงภายในการเลือกตั้งสหรัฐปี 2020

ทั้งนี้ ความตกลงปารีส ริเริ่มในปี 2015 โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศสมาชิก 188 ประเทศร่วมกันพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดให้มากขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสต่อไป ซึ่งสหรัฐมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 15% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

แต่หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2017 เขาไม่ยอมลงนามในความตกลงปารีส และแสดงเจตจำนงที่จะถอนสหรัฐออกจากความตกลงดังกล่าว ตามที่ประกาศไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

“ไมก์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าว “สร้างภาระทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมให้กับชาวอเมริกัน” โดยอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวสร้างต้นทุนให้กับภาคธุรกิจสหรัฐสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและทำให้สูญเสียตำแหน่งงานถึง 6.5 ล้านตำแหน่ง

ปอมเปโอระบุด้วยว่า “สหรัฐจะทำตามแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง โดยมุ่งเน้นการใช้แหล่งพลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ” ขณะที่ฝรั่งเศสและญี่ปุ่นต่างเป็นผู้นำในการคัดค้านการถอนตัวของสหรัฐ

ด้าน “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐ ได้ออกมาประณามการตัดสินใจของทรัมป์โดยระบุว่า “เป็นการตัดสินที่สร้างหายนะด้วยการขายอนาคตของลูกหลานของเรา”

ขณะที่ หลายรัฐของสหรัฐและภาคธุรกิจอีกหลายร้อยแห่งในสหรัฐได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว We Are Still In โดยให้คำมั่นว่า จะยังมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนตามแนวทางเดิม

“ไมเคิล บลูมเบิร์ก” นักธุรกิจชาวอเมริกันและนักการทูตด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า กลุ่มนักธุรกิจกำลังทำงานเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากการถอนตัวของทรัมป์ ซึ่งเขาระบุว่าเป็น “การสละความเป็นผู้นำ”

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวครั้งนี้ยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากกระบวนการถอนตัวยังคงต้องใช้เวลานาน ซึ่งหากประธานาธิบดีทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2020 ผู้ชนะการเลือกตั้งอาจจะผลักดันให้สหรัฐยังคงอยู่ในความตกลงปารีสต่อไปได้