นักวิจัยอังกฤษเจ๋ง! สร้างหมวกกันน็อคสแกนสมอง ช่วยเด็กออทิซึมและโรคลมชัก

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นักวิจัยของอังกฤษได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนา “หมวกกันน็อค” ที่สามารถสแกนตรวจจับการทำงานของสมองเด็กได้แบบเรียลไทม์ได้ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับเด็กที่มีความผิดปกติทางสมอง อย่างเช่น ผู้ป่วยออทิซึมและผู้ป่วยโรคลมชักได้

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Communications เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำอุปกรณ์ magnetoencephalography (MEG) ซึ่งเป็นเซนเซอร์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบาติดตั้งลงในหมวกกันน็อคสำหรับการปั่นจักรยาน ซึ่งสามารถสแกนและบันทึกการตอบสนองของสมองเด็กอายุระหว่าง 2-5 ปีได้

แมทธิว บรูกส์ ผู้พัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันการสแกนสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปียังคงเป็นเรื่องยุ่งยาก “เนื่องจากศีรษะของเด็กยังมีขนาดเล็กเกินไปต่อการสแกนอย่างเหมาะสม ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียข้อมูลที่มีคุณภาพ นอกจากนี้เด็กอายุน้อยยังชอบเคลื่อนไหวบ่อย ๆ”

อุปกรณ์หมวกกันน็อคแบบใหม่นี้สามารถทำการสแกนสมองของเด็กได้ แม้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวศีรษะ โดยเด็ก ๆ สามารถสวมใส่อุปกรณ์นี้เพื่อสแกนสมองได้ที่บ้าน ซึ่งช่วยลดความกลัวจากการสแกนสมองในสถานพยาบาล

ทั้งนี้ เทคโนโลยีใหม่ยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ในเด็กเท่านั้น บรูกส์ระบุว่า ทีมวิจัยที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนของอังกฤษ กำลังทดลองใช้อุปกรณ์ MEG ในคลีนิก เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคลมชัก ซึ่งทีมวิจัยยังตั้งเป้าที่จะขยายไปถึงการรักษาอาการบาดเจ็บทางสมอง อาการทางจิต และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ด้วย


“เห็นได้ชัดว่าขณะนี้ยังคงเป็นเทคโนโลยีระยะเริ่มแรกเท่านั้นและยังอยู่ในขั้นของการวิจัย อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าจะสามารถใช้งานได้ภายใน 2-3 ปี” บรูกส์กล่าวทิ้งท้าย